สพฐ.เร่งยกคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมฯ

สพฐ.เร่งยกคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมฯ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ปี 2552-2555 เนื่องจาก สพฐ.เห็นว่าการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังระดับอุดมศึกษา เพื่อต่อยอดไปถึงกลุ่มเป้าหมายในตลาดแรงงาน ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ฯ นี้ได้จัด ทำภายใต้แนวคิดผลการศึกษาวิเคราะห์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทั้งการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การทดสอบระดับชาติ หรือ NT มาเป็นตัวประกอบการวางแผนฯ ที่จะขับเคลื่อนคุณภาพ ตลอดจนการนำสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมาเป็นแนวทางในการกำหนดยุทธศาสตร์ฯ ด้วย

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดไว้ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ขยายโอกาสและส่งเสริมความเท่าเทียม โดยสำรวจและวางแผนจัดการมัธยมศึกษาในภาพรวมของประเทศ และเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้สามารถเข้าถึงและให้บริการผู้เรียนอย่างทั่วถึง 2.การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาสู่มาตรฐานและยกระดับสู่มาตรฐานสากล ซึ่งจะพัฒนาโรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกโรงและโรงเรียนขยายโอกาสที่มีนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไม่น้อยกว่า 90 คน ให้ผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์ของ สมศ. พร้อมพัฒนาโรงเรียนดีใกล้บ้านเพื่อดึงนักเรียนไว้ในพื้นที่ไม่ต้องไปเรียนในเมือง 3.พัฒนาคุณภาพนักเรียนสู่มาตรฐาน สร้างความเป็นเลิศและยกระดับสู่มาตรฐานสากล โดยเน้นการสร้างความเป็นเลิศให้นักเรียนมีความรู้ ความสามารถและทักษะทางด้านวิทยาศา์ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ และ 4.สร้างความเข้มแข็งในการบริหารและจัดการศึกษาให้สถานศึกษารองรับการกระจายอำนาจ โดยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน กับผู้ปกครอง ชุมชน คณะกรรมการสถานศึกษา และสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่

สพฐ.จะเสนอแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร็วที่สุด เพื่อ ผลักดันให้การยกระดับคุณภาพมัธยมศึกษามี ความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเปรียบเทียบคุณภาพมัธยมศึกษากับต่างประเทศแล้วจะพบว่า ประเทศไทยยังจัดระบบมัธยมศึกษาด้อยคุณภาพอยู่มาก และงบประมาณที่นำมาใช้จัดสรรก็น้อยมาก ดังนั้นจึงต้องเร่งยกระดับมาตรฐานให้เร็วที่สุด รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook