สมาร์ทการ์ด คนจน และสวัสดิการรัฐ ..?

สมาร์ทการ์ด คนจน และสวัสดิการรัฐ ..?

สมาร์ทการ์ด คนจน และสวัสดิการรัฐ ..?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นประเด็นน่าสนใจ น่าติดตามและชวนคิด และ เสนอความเห็นตามที่ท่านโฆษกรัฐบาล หรือ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ให้ความเห็นกับสื่อในประเด็น ความจำเป็นที่จะระบุ อาชีพ และ รายได้ลงในบัตรประจำตัวประชาชน ของคนไทย ในปี 2560

สำหรับเหตุผลความจำเป็นตามที่ท่านโฆษกให้สัมภาษณ์กับสื่อล่าสุด ได้หยิบยกประเด็น ว่า ต้องระบุอาชีพ และรายได้ ลงในบัตรประชาชน ซึ่งเป็นบัตรแบบสมาร์ทการ์ด (ย้ำอีกครั้ง สมาร์ทการ์ด) เพราะรัฐจะได้จัดสวัสดิการให้ถึงมือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำมาตรการออกมาแล้วก็ถูกคนทั่วไปมาใช้สิทธิ จนรัฐเสียประโยชน์ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี เป็นต้น

เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือเกษตรกรได้ตรงจุด ถูกตัว และเป็นประโยชน์ต่อระบบภาษีที่ทุกคนต้องอยู่ในฐานภาษี

ทั้งนี้ ท่านได้ ยืนยันว่าการแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วยเพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสน และขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย

สำหรับการระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชนนั้น ยังไม่ชัดเจนว่า จะระบุไว้ในชิพบนบัตรประชาชน (สมาร์ทการ์ด) หรือ ระบุบนหน้าบัตร...?

แต่มีประเด็นที่น่าสงสัยในหลายประเด็นว่า บัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ปัจจุบันคนไทยมีบัตรประชาชนที่มีชิพ หรือที่เรียกว่าสมาร์ทการ์ดนะครับ แต่อายุบัตรประชาชน มีอายุครั้งละ 6 ปี ดังนั้น

1 ในระหว่าง 6 ปี หากมีการเปลี่ยนอาชีพ จะต้องทำบัตรประชาชนใหม่ทุกครั้งหรือไม่ ?
2 ในทุกปี ตามปกติ พนักงานเอกชน ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจฯ จะมีการปรับเงินเดือนทุกปี หมายถึงทุกปีคนเหล่านี้ต้องทำบัตรประชาชนใหม่หรือไม่...?
3 บัตรประชาชนที่มีชิพ ที่บอกว่าเป็นแบบสมาร์ทการ์ด ส่วนราชการ หรือเอกชน ที่ใหนที่มีเครื่องอ่านชิพข้อมูลบ้าง ? ยังต้องถ่ายสำเนาบัตร พร้อมเซ็นกำกับสำเนาถูกต้องอยู่อีกหรือไม่...(เพราะหากตกลงว่าใส่ข้อมูลเรื่องอาชีพและรายได้ไว้ในชิพ)
4 การทำธุรกรรมทางการเงินหรือบางเรื่อง ยังต้องใช้ใบรับรองเงินเดือนหรือ สเตทเมนท์ อยู่อีกหรือไม่ ?

เป็นตัวอย่างบางประเด็นของสิ่งที่สงสัยหากจะมีการระบุอาชีพ และเงินเดือนลงในบัตรประชาชน นอกจากนี้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า การแจ้งอาชีพและเงินเดือนจะถูกต้อง 100 % เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ในสังคมไทยอาชีพบางอาชีพมันก็สีเทาๆ ระบุไม่ถูก ว่าอาชีพนั้นคืออะไร ...?

สำหรับประเด็นความต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้ตรงจุดนั้น นับว่าเป็นประเด็นที่ดี แต่น่าจะมีวิธีการที่ง่ายกว่านี้ ที่ผ่านมาการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรัฐบาลก็ดำเนินการอยู่ ก็น่าจะมีฐานข้อมูลอยู่พอสมควร การอุดรูรั่วตามตัวอย่างที่โฆษกรัฐบาลยกมาเรื่องรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี นั้น การลงทะเบียนและออกบัตรให้กับผู้มีรายได้น้อยโดยตรงน่าจะตรงจุดกว่า เหมือนที่ผ่านมาเราก็ให้บริการกับบุคคลบางประเภทอยู่แล้ว เช่น ทหารผ่านศึก เป็นต้น

ส่วนการเข้าสู่ระบบภาษีนั้น เชื่อว่าที่ผ่านมากรมภาษี โดยเฉพาะกรมสรรพากรมาการพัฒนาและวางระบบก้าวหน้าไปพอสมควร สามารถใช้หมายเลขประจำตัว 13 หลัก เป็นหมายเลขผู้เสียภาษีได้โดยไม่ต้องขอเลขใหม่ให้ซ้ำซ้อน และการเชื่อมโยงระบบภาษี ฐานข้อมูลภาษีของนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ค่อนข้างเป็นระบบ จึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

ที่สำคัญ การระบุอาชีพ และรายได้ จะนำไปสู่การปรับปรุงระบบสวัสดิการส่วนร่วมของรัฐได้อย่างไร ? หากการยกเรื่องการช่วยเหลือ ลดภาระค่าครองชีพส่วนหนึ่งเป็นมาตรการเป็นความจำเป็น คำถามต่อก็คือ สวัสดิการทางสังคมของคนมีรายได้น้อยจะดีขึ้นหรือไม่ ..

ยกตัวอย่าง ปัจจุบัน แม้กระทั่งคนที่อยู่ในระบบแรงงาน อยู่ในระบบประกันสังคม สวัสดิการในเรื่องการรักษาพยาบาล เรายังมีความเหลื่อมล้ำ การให้บริการของคนที่ใช้สิทธิของระบบประกันสังคมยังได้รับการบริการที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ

การระบุตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง ตอกย้ำลงไปในบัตรประจำตัว จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือ..

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook