พิษเศรษฐกิจเอ็นพีแอลปูดขึ้น

พิษเศรษฐกิจเอ็นพีแอลปูดขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลในปี 52 จะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้รายได้ภาคครัวเรือนปรับตัวลดลงและคาดว่าจะกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจในอนาคต แต่เอ็นพีแอลจะมากหรือน้อยขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจว่าจะหดตัวมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งว่าลดต้นทุนการดำเนินงานได้หรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ถ้าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายได้ในประเทศหรือจีดีพีปรับตัวลดลง 1% จะส่งผลให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 1% แต่เชื่อว่าถ้าธนาคารพาณิชย์มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีเอ็นพีแอลก็จะไม่สูงมากนัก

สำหรับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ต่อเอ็นพีแอลที่จะสูงขึ้นนั้น ธนาคารพาณิชย์จะลดการขยายสินเชื่อตามเศรษฐกิจที่หดตัว โดยเฉพาะลูกค้ารายใหม่ ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายเก่าธนาคารจะดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อรู้ปัญหาของลูกค้า และให้ความสำคัญเรื่องการปรับโครงสร้างมากขึ้น รวมทั้งมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เพิ่มแรงกดดันลูกค้าจนทำให้เกิดเอ็นพีแอลในระยะยาว ซึ่ง ธปท.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเห็นว่าถ้าเอ็นพีแอลในระบบลดลงมาก ๆ ธนาคารจะไม่มีภาระการกันสำรองและจะทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

ปัจจุบันการบริหารความเสี่ยงธนาคารพาณิชย์สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากธนาคารได้เข้ามาดูแลปัญหาอย่างจริงจัง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เก่าและหนี้ใหม่ของลูกหนี้ ขายหนี้ทิ้ง และตัดหนี้เป็นสูญ ดังนั้นปีนี้ความเสี่ยงของเอ็นพีแอลจะสูงแค่ไหนขึ้นกับการชะลอตัวเศรษฐกิจ การบริหารสินเชื่อ การบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ที่ผ่านมาพอใจกับการแก้ปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ โดยเอ็นพีแอลปี 51 ลดลง 56,000 ล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลที่ยังไม่หักสำรองหรือกรอส เอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.3% จากปี 50 อยู่ที่ 7.3% เอ็นพีแอลสุทธิอยู่ที่ 2.9% จากเดิมอยู่ที่ 3.9%.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook