เผยปมดื้อทำคนไทยป่วยเรื้อรัง

เผยปมดื้อทำคนไทยป่วยเรื้อรัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2552 นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจ็บป่วยของคนไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนจากโรคที่มีเชื้อก่อเหตุ เป็นเกิดจากพฤติกรรมการกินการอยู่แทน เมื่อเป็นแล้วจะรักษาไม่หายขาดเหมือนโรคที่เกิดจากเชื้อโรค และกลายเป็นโรคเรื้อรัง ต้อง เข้าออกโรงพยาบาลเนือง ๆ เป็นโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาแพงมาก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ บางรายต้องกลายเป็นผู้พิการ

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ผลการเฝ้าระวังโรคเรื้อรังที่สำคัญของคนไทย 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าตลอดปี 2550 มีผู้ป่วยโรคดังกล่าวเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ 2 ล้านกว่าราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยรายใหม่มากถึง 3 แสนกว่าราย ผู้ป่วยร้อยละ 40-70 เป็นผู้สูงอายุ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้จะเน้นการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วประเทศปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพิ่มการออกกำลังกาย ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การกินอาหารมันจัด หวานจัด โดยให้ อสม. ทั่วประเทศ 830,000 คน ช่วยกันรณรงค์ประชาชนทุกหมู่บ้านร่วมกับสถานีอนามัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะยกระดับให้เป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในตำบลต่อไป

ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ใน 3 เรื่องใหญ่ คือ การกินอาหาร การออกกำลังกาย การกินยาควบคุมอาการ แต่จากการประเมินพบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 267,319 ราย ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หรือปฏิบัติตามแต่ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา โดยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พบโรคหัวใจเป็นโรคแทรกซ้อนมากที่สุดจำนวน 31,646 ราย รองลงมาคือ ไตวาย 8,420 ราย เป็นอัมพาตจากเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก จำนวน 6,675 ราย เป็นโรคแทรกซ้อนหลายอย่างพร้อมกันจำนวน 9,334 ราย ส่วนในผู้ป่วยเบาหวาน พบเป็นโรคแทรกซ้อน 150,403 ราย ในจำนวนนี้เป็นไตวาย 19,499 ราย ขาเน่าต้องตัดขาทิ้งจำนวน 2,025 ราย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook