สพก.ทุ่ม 10 ล้านพัฒนาวงการลูกหนังนักเรียน

สพก.ทุ่ม 10 ล้านพัฒนาวงการลูกหนังนักเรียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ผอ.สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (สพก.) ได้เปิดเผยความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาฟุตบอลระดับเยาวชน-นักเรียน-นักศึกษาทั่วประเทศว่า หลังจากที่มีแนวคิดอยากจะพัฒนาวงการฟุตบอลระดับเยาวชนที่ สพก. รับผิดชอบ นั่นก็คือ การแข่งขันฟุตบอลระดับเยาวชน, ระดับนักเรียน-นักศึกษา ทั่วประเทศ ให้พัฒนาก้าวไปเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลของเอเชียและของยุโรป จึงได้เรียกผู้เชี่ยวชาญในวงการฟุตบอล ของไทยและระดับเอเชีย 4 คน ที่เป็นข้าราชการของ สพก. คือ โค้ชหรั่ง ชาญวิทย์ ผลชีวิน อดีตกุนซือทีมชาติไทย โค้ชตุ้ย กวิน คเชนทร์เดชา อดีตโค้ชทีมเยาวชน 19 ปี สุพนธ์ มณีธีระกุล โค้ชทีมนักเรียนไทย และ รัศมี จินดามัย อดีตผู้ตัดสินของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มาหารือร่วมกัน เพื่อวางแผนในการพัฒนาฟุตบอลระดับเยาวชน

ผอ.สพก. ยังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวทางในการพัฒนาฟุตบอลระดับนักเรียน และเยาวชนนั้น จะให้ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 คน ร่วมกันจัดทำแผนออกมาอย่างชัดเจน เพื่อพัฒนา 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ตั้งศูนย์ฟุตบอลสู่ความเป็นเลิศ 2.อบรมผู้ฝึกสอนฟุตบอลทั่วประเทศ 3.อบรมผู้ตัดสินทั่วประเทศ ซึ่งแผนงานทั้งหมดต้องทำให้เสร็จภายในเดือน มี.ค. จะได้วางมาตรฐานในการพัฒนาฟุตบอลระดับเยาวชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้ โค้ชหรั่ง เป็นหัวหน้าของคณะทำงานชุดนี้ เนื่องจากเป็นบุคลากรที่มีความสามารถ เคยคุมทีมชาติไทยคว้าแชมป์ซีเกมส์, คุมทีมธนาคารกสิกรไทย คว้าแชมป์เอเชีย, เป็นวิทยากรอบรมโค้ชให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งโครงการนี้จะใช้งบประมาณ เบื้องต้น 10,000,000 บาท จากนั้นในแต่ละปี จะมีการจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนโครงการนี้เพิ่มเติม

ผมต้องการพัฒนากีฬาฟุตบอลตั้งแต่ระดับรากหญ้า และช่วยเหลือสมาคมฟุตบอลฯในการปูพื้นฐานให้กับเด็ก ๆ และเยาวชนอย่างถูกต้อง จะได้เป็นตัวเลือกที่ดีให้กับโรงเรียน, จังหวัด, สโมสร, ประเทศชาติต่อไปในอนาคต โครงการนี้จะต้องเห็นผลที่ชัดเจนในเวลา 3 ปี โดยนักกีฬาที่อยู่ในโรงเรียนต่าง ๆ ที่ สพก. เป็นผู้ดูแลและมาเข้าร่วมกับโครงการนี้ จะต้องพัฒนาฝีเท้าได้อย่างรวดเร็วแน่ เนื่องจาก สพก. มีงบประมาณ สถานที่ บุคลากร ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเหล่านี้พัฒนาทักษะการเล่นฟุตบอลให้ดีขึ้น และต้องประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่างฟุตบอลนักเรียนชิงแชมป์เอเชีย ส่วนการพัฒนาผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสินก็จะทำแบบสากลให้กระจายไปทั่วประเทศ อีกหน่อยหากมีฟุตบอลจัดแข่งที่ ยะลา คนของ สพก.ที่ส่วนกลางก็ไม่จำเป็นต้องลงไปช่วยหรือทำหน้าที่ตัดสิน สามารถใช้เจ้าหน้าที่ของ สพก.ที่จังหวัดยะลา ทำหน้าที่ได้ทันที เนื่องจากมีความรู้ความสามารถและมาตรฐานเดียวกัน นายสมบัติ กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook