ไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ข่าวดีหลังวันเด็ก..และวันครู

ไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ข่าวดีหลังวันเด็ก..และวันครู

ไม่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ข่าวดีหลังวันเด็ก..และวันครู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีข่าวใหญ่ที่น่ายินดี แต่เป็นข่าวเล็กๆ ที่สื่อไม่สนใจให้ความสำคัญมากนัก ก็คือ การแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของผู้เรียน ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ

โดย นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า จะไม่มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาเหล่านี้ จะแก้ไขปัญหาโดยใช้ระบบดีแอลทีวีหรือการสอนผ่านดาวเทียม การหมุนเวียนครู และการเรียนรวม มาแก้ไขปัญหาคุณภาพของผู้เรียน ขาดประสิทธิภาพเหล่านี้แทน

ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นปัญหามานานหลายปี เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ขาดแคลนครูผู้สอน ทำให้ประสิทธิภาพในการศึกษาไม่ได้มาตรฐาน ครั้งหนึ่งในสมัยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เคยมีแนวคิดที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มาแล้ว แต่โชคดีที่นโยบายยังไม่ได้เดินต่อ มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน

ซึ่งในครั้งนั้น มีการสำรวจข้อมูลของโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายว่าจะถูกยุบมีกว่า 17,000 แห่งมีดังนี้

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 8,962 โรง

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,163 โรง

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 21-40 คน จำนวน 2,090 โรง

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 โรง

นับว่าเป็นความโชคดี ที่นโยบายยุบโรงเรียนไม่ได้เดินหน้า เพราะมิฉะนั้น โอกาสของเด็กที่ขาดแคลนและห่างไกล ยิ่งจะถูกซ้ำเติมขาดโอกาสทางการศึกษาไปด้วย แม้ว่าในการยุบโรงเรียนจะมีการโอนย้ายเด็กนักเรียนไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม

แต่ในความเป็นจริง เด็กจำนวนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเดินทาง หรือ สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว ก็ตาม

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ก็ถือว่าเป็นทางออกระดับหนึ่ง แต่หัวใจหลักของปัญหาก็คือ ปัญหาขาดแคลนครู อันนี้ต้องคิดระยะยาวว่าจะทำอย่างไร...?

ปัจจุบันการผลิตวิชาชีพครู ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่ ปัญหาคือ คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้าศึกษาในวิชาชีพ ครู ทั้งๆ ที่เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ แต่ด้วยทัศนคติของสังคมที่เปลี่ยนไป คนนิยมความร่ำรวย เป็นอันดับแรกๆ วิชาชีพครูที่ยากจะสร้างความร่ำรวยได้ จึงมีบุคลากรเข้ามาน้อย และที่เข้ามาแล้วก็นิยมที่จะสอนในเขตพื้นที่เมือง ซึ่งมีความสะดวกสบาย และมีช่องทางทำมาหากินเสริมมากกว่า ทำให้ ครู ที่เสียสละมีน้อยมากกว่าน้อยลงไปทุกวัน

ทำอย่างไรถึงจะทำให้อาชีพครู มีความสำคัญ มีรายได้สูงเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัวในอนาคตได้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหาทางออกกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้กำลังใจ กระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนโยบายที่ดี และหันมาดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก พยายามหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เรื่องแบบนี้ต้องช่วยกันให้กำลังใจครับ....และเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีหลังวันเด็ก และ วันครู ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานครับ..

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook