ตรุษจีนนี้! ชวนชม ‘ดาวเคียงเดือน' ‘จันทร์เสี้ยวเคียงพุธ-ศุกร์' 6-7 ก.พ.นี้

ตรุษจีนนี้! ชวนชม ‘ดาวเคียงเดือน' ‘จันทร์เสี้ยวเคียงพุธ-ศุกร์' 6-7 ก.พ.นี้

ตรุษจีนนี้! ชวนชม ‘ดาวเคียงเดือน' ‘จันทร์เสี้ยวเคียงพุธ-ศุกร์' 6-7 ก.พ.นี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงเช้ามืดยังคงมีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ปรากฏเรียงกัน 5 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ที่ยังปรากฏบนท้องฟ้าให้เห็นพร้อมกันเช่นนี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์

ช่วงวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ มีปรากฏการณ์ "ดาวเคียงเดือน" ดวงจันทร์เสี้ยวบางจะเคลื่อนที่ลงมาเคียงข้างดาวศุกร์กับดาวพุธ ทั้งสามวัตถุจะปรากฏบริเวณใกล้เคียงกัน ดาวศุกร์สุกสว่างปรากฏบนฟากฟ้ายามเช้า ส่วนดาวพุธซึ่งตามปกติจะสังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากจะปรากฏอยู่บริเวณใกล้ขอบฟ้า เราสามารถใช้ดวงจันทร์เสี้ยวบางเป็นตัวช่วยในการสังเกตหาดาวพุธได้ ดาวพุธเป็นดาวที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยาก เนื่องจากวงโคจรของดาวพุธใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวพุธไม่ปรากฏอยู่ในช่วงที่ท้องฟ้ามืดสนิท แต่จะปรากฏในขณะที่มีแสงสนธยาเท่านั้น

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้าวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นโอกาสดีที่จะเห็นดาวพุธได้ชัดเจนที่สุด เนื่องจากดาวพุธอยู่ตำแหน่งสูงที่สุดคือห่างจากดวงอาทิตย์ที่สุดแล้ว ดาวพุธจะอยู่สูงเกินขอบฟ้าประมาณ 10 องศา (1 กำปั้นของเราเมื่อเหยียดสุดแขนจะมีระยะเชิงมุมประมาณ 10 องศา) ในช่วงเช้าวันที่ 6 ก.พ. ดวงจันทร์จะสูงกว่าดาวศุกร์เล็กน้อย วัตถุทั้งสองอยู่ห่างกันเป็นระยะเชิงมุม 5 องศา และดวงจันทร์อยู่ห่างจากดาวพุธเป็นระยะเชิงมุม 8.3 องศา

ส่วนเช้าวันที่ 7 ก.พ. ดวงจันทร์จะอยู่ต่ำกว่าดาวพุธเล็กน้อย เป็นระยะเชิงมุม 5.5 องศา และอยู่ห่างจากดาวศุกร์เป็นระยะเชิงมุม 9.8 องศา สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์คือเวลาประมาณ 06.15 - 06.30 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจตื่นเช้ามาชมดาวเคียงเดือนในครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้ายามเช้าที่สวยงามน่าติดตามชม อีกปรากฏการณ์หนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook