กรธ.แจง รธน. ทูต59ประเทศยันเลือกตั้งปี60

กรธ.แจง รธน. ทูต59ประเทศยันเลือกตั้งปี60

กรธ.แจง รธน. ทูต59ประเทศยันเลือกตั้งปี60
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'นรชิต' กรธ. เชิญ ทูตต่างประเทศ รับฟังการชี้แจง ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ก่อนเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติม ยืนยันเลือกตั้งปี 2560 รับไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ทุกส่วนต้องร่วมมือกัน

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ นายศุภชัย เยาวประภาส สมาชิกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้เชิญคณะทูตต่างประเทศ ที่ประจำการในประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น โดยมีผู้แทนจากสถานทูต 59 ประเทศ โดยเป็นระดับเอกอัครราชทูต 9 ประเทศเช่น สเปน แอฟริกาใต้ นอร์เวย์ และ กาตาร์ ระดับอุปทูต 6 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 11 แห่ง

โดยการชี้แจงในวันนี้ คาดว่าจะได้ชี้แจงสาระสำคัญ และเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต่างชาติให้ความสนใจ เช่น โครงสร้างทางการเมือง สิทธิและเสรีภาพ การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงโรดแมปของ คสช. ที่ยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2560

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการชี้แจงกับคณะทูตานุทูต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้คณะทูตได้ซักถามในประเด็นที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม และจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าในการชี้แจง และข้อซักถามของผู้แทนจากต่างประเทศด้วย

 

กรธ.แจงไม่ขยายการทำกม.ประกอบรธน.

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังบรรยายสรุปร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ต่อคณะทูตานุทูต ว่า ได้มีการชี้แจงการทำงานของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดโอกาสให้คณะทูตได้สอบถาม โดยคณะทูตได้สอบถามถึงความมั่นใจของการร่างรัฐธรรมนูญว่าจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ได้ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เพราะต้องขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือกันประคับประคองประเทศ  นอกจากนี้ ยังได้อธิบายถึงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และที่มา ส.ว. ที่ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เพื่อไม่ให้อิงพรรคการเมือง และชี้แจงถึงคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ ส.ว.

นอกจากนี้ ได้อธิบายว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติ จะต้องใช้เวลา 8 เดือน หรือ น้อยกว่า ในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเติมเต็มกระบวนการต่างๆ ในรัฐธรรมนูญด้วย

ส่วนเรื่องการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งนั้น นายนรชิต ยืนยันว่า กระบวนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งนี้จะไม่ขยายไปจากที่ กรธ. กำหนดไว้ เนื่องจากจะต้องมีการการเลือกตั้ง ในปี 2560 ตามโรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

ส่วนประเด็นนายกฯคนนอกนั้น ทางคณะทูตฯ เกิดคำถามว่า หากพรรคการเมืองเลือกคนๆ เดียวกันเป็นนายกฯ จะมีทางออกอย่างไร ทาง กรธ. อธิบายว่า การกำหนดดังกล่าวไม่ได้ต้องการให้พรรคการเมืองสนับสนุนใครเป็นนายกฯ แต่อยากให้ประชาชนรับทราบถึงรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอเป็นนายกฯ และผู้ที่ถูกเสนอชื่อนั้นจะต้องเซ็นยินยอมว่าจะเข้าร่วมกับพรรคใด ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม กรธ. พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ขอให้ส่งข้อเสนอแนะมายัง กรธ. ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ไข


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook