เปิดอีเมล มหิดล ถึง ฮาร์วาร์ด ซัด "ทพญ.ขาดคุณธรรม-ไร้รับผิดชอบ" อดีตอธิการฯ ปัดเพื่อนลูกสาว

เปิดอีเมล มหิดล ถึง ฮาร์วาร์ด ซัด "ทพญ.ขาดคุณธรรม-ไร้รับผิดชอบ" อดีตอธิการฯ ปัดเพื่อนลูกสาว

เปิดอีเมล มหิดล ถึง ฮาร์วาร์ด ซัด "ทพญ.ขาดคุณธรรม-ไร้รับผิดชอบ" อดีตอธิการฯ ปัดเพื่อนลูกสาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เปิดอีเมลมม.ถึงฮาร์วาร์ด ซัด”ทพญ.ขาดคุณธรรม-ไร้รับผิดชอบ” อดีตอธิการฯ มม.ปัดเพื่อนลูกสาว แค่คนรู้จัก ยันทวงหนี้ถึงที่สุดแล้ว ถึงขั้นยึดพาสปอร์ต

กรณี ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ 1 ใน 4 ผู้ค้ำประกัน อดีตอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ที่ขอทุนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และเอก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้โพสต์เฟซบุ๊กระบายความในใจกรณีต้องชดใช้หนี้ 2 ล้านบาท จากการเซ็นค้ำประกันให้

และหลังจากที่ ทันตแพทย์หญิง เรียนจบแล้วไม่ยอมกลับมาทำงานใช้ทุน และไม่ยอมชำระเงินชดใช้ทุน ทำให้ ทพ.เผด็จ และผู้ค้ำรวม 4 คน ต้องใช้หนี้จากการเซ็นค้ำประกัน 8 ล้านบาท โดยล่าสุดทาง ทพ.เผด็จ ขอให้ มม.ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด เพื่อร้องเรียนตามช่องทางที่ถูกต้องนั้น

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มม. กล่าวว่า อธิการบดี มม.ส่งอีเมลถึงผู้ตรวจการคณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เนื้อหาเล่าเรื่องราวความประพฤติในประเด็นจริยธรรมของทันตแพทย์หญิง ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากรัฐบาล แต่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข

โดยการทำสัญญาซึ่งมี 2 ฉบับ กำหนดว่าถ้าไม่กลับมาทำงานที่ มม. 2 เท่าของระยะเวลาที่เรียนต่างประเทศ ก็ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลได้สนับสนุนไปทั้งค่าเล่าเรียน เงินเดือนทันตแพทย์ขณะเป็นอาจารย์ มม.และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต โดยชดใช้เป็น 2 เท่าของเงินที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐ

ซึ่งสัญญาทุน 2 ฉบับดังกล่าว ต้องมีผู้ค้ำประกัน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว ทันตแพทย์หญิงไม่กลับมาทำงานที่ มม.และยังไม่ชดใช้เงินตามสัญญา ทาง มม.จึงแจ้งทันตแพทย์หญิงและผู้ค้ำประกันว่าต้องชดใช้เงิน แต่ปรากฏว่า ทันตแพทย์หญิงไม่สนใจ จึงนำมาสู่การฟ้องร้องศาลปกครองกลาง

ทำให้ผู้ค้ำฯ ซึ่งค้ำให้ด้วยความเชื่อใจ เชื่อว่าเป็นคนดี มีจริยธรรม ต้องเดือดร้อนมาชดใช้เงินแทน และขณะนี้คดีความกำลังจะหมดอายุความ แต่ทันตแพทย์หญิงก็ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทำให้ผู้ค้ำฯ ต้องชดใช้เงินแทนเพราะหากผู้ค้ำฯ ไม่ชดใช้ ก็อาจทำให้ถูกยึดทรัพย์ได้

และเนื่องจากขณะนี้ทันตแพทย์หญิงได้มาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงอยากให้ช่วยแจ้งทันตแพทย์หญิง ว่า ขาดคุณธรรม และขาดความรับผิดชอบต่อรัฐบาลไทยซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการศึกษาจนกระทั่งทำให้มีความรู้ จึงขอให้ช่วยแจ้งให้มีความสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม

คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มม. กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ มม.ได้แปลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นภาษาอังกฤษแนบไปด้วย จากนี้คงแล้วแต่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่าจะดำเนินการอย่างไรตามความเหมาะสมเพราะเราคงไม่สามารถไปสั่งการได้ แต่ทั้งนี้ในอีเมลได้แจ้งไปด้วยว่าถ้าหากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ทาง มม.ก็ยินดี

เมื่อถามว่าทำไม มม.อนุมัติให้ ทันตแพทย์หญิง ลาออกในปี 2547 โดยมีผลย้อนหลังปี 2546 ทพ.พาสน์ศิริ กล่าวว่า ทันตแพทย์หญิง ทำหนังสือลาออกมาตั้งแต่ปี 2546 แต่เป็นการลาออกทางแฟ็กซ์ ซึ่งเอกสารไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ตามแบบฟอร์มของทางราชการ จึงมีการประสานให้ทำให้ถูกต้อง กระทั่ง มม.อนุมัติและมีผลย้อนหลังไปยังวันที่ ทันตแพทย์หญิง แจ้งความประสงค์ขอลาออก

ส่วนที่ถามว่าทำไมต้องอนุมัติให้ลาออกนั้น ที่อนุมัติให้ลาออกก็เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ เพราะถ้ายังเป็นข้าราชการ ก็แสดงว่าเขายังไม่ได้ทำผิด แต่เมื่อลาออกจากราชการ ก็สามารถเริ่มต้นกระบวนการทางกฎหมายได้

ซึ่งชี้แจงว่าที่ผ่านมา ทันตแพทย์หญิงขอยืดการลาเรียนหลายครั้งแล้ว ครั้งแรกขอลาเรียนปริญญาโทและเอก ต่อมาบอกว่ายังเรียนไม่จบ ขอขยายเวลาออกไป ต่อมาขอลาทำ Post Doc อีก 2 ปี ทางมม.มาพิจารณาว่าถ้าขอลาเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ได้ จึงไม่อนุมัติให้ลา เมื่อไม่อนุมัติ ทางทันตแพทย์หญิงก็ทำเรื่องขอลาออกจากราชการทันที

ด้าน นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ อดีตอธิการบดี มม. กล่าวว่า ตนเป็นอธิการบดีมม.ช่วงปี 2542-2550 ซึ่งเป็นช่วงที่อนุมัติให้ ทันตแพทย์หญิง ลาออก ทั้งนี้ตนอนุมัติตามที่คณะได้กลั่นกรองและนำเสนอมา ซึ่งตามระเบียบราชการ ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้ลาออกได้ ขอถามว่าจะยับยั้งไปเพื่ออะไร เพราะถ้าอนุมัติให้ลาออก ก็สามารถเริ่มต้นกระบวนการกทางกฎหมายได้ทันที

ที่ผ่านมา มม.พยายามติดตามทันตแพทย์หญิง ให้มาชดใช้ทุนโดยตลอด หลังจากตน ก็มีอธิการบดี มม.อีก 3 ท่านบริหาร มม. ทุกคนก็พยายามติดตามให้กลับมาชดใช้ทุน เราทำถึงขนาดยึดพาสปอร์ตของทันตแพทย์หญิงแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปล่อยปละละเลย

เมื่อถามถึงกระแสโซเชียลที่ระบุว่า นพ.พรชัย เลือกปฏิบัติโดยให้ลาออกแทนที่จะให้ออกเหมือนกับอาจารย์เบี้ยวทุนรายอื่นๆ ขอ งมม. เนื่องจากเป็นเพื่อนของลูกสาว นพ.พรชัย กล่าวว่า ชี้แจงว่าลูกสาวกับทันตแพทย์หญิงต่างกันหลายรุ่นมาก ลูกสาวตนอายุอ่อนกว่ามาก และไม่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันเลย ไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยมหรือมหาวิทยาลัย

เพียงแต่สมัยเรียนจุฬาฯ ลูกสาวตนได้ทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่คณะทันตแพทย์ฮาร์วาร์ด ในช่วงที่ทันตแพทย์หญิงได้ทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพอดี แค่รู้จักกัน ไม่ได้สนิทอะไร ฉะนั้นยืนยันว่าตนไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีการไล่ออกอาจารย์มม.ที่เบี้ยวทุน มีแต่ให้ออกและตนขอถามว่า ไล่ออก กับ ให้ออก ต่างกันอย่างไร ถ้าบอกว่าไล่ออก จะเสียประวัติ ตนอยากถามต่อว่าแล้วคิดว่าทันตแพทย์หญิงจะสนใจเรื่องเสียประวัติหรือ

เมื่อถามต่อว่าปัญหาการเบี้ยวทุนของทันตแพทย์หญิง คิดว่าเกิดจาก 1. มหาวิทยาลัยมหิดล 2. ระบบการติดตามทุนของรัฐ หรือ 3. จิตสำนึก นพ.พรชัย กล่าวว่า ปัญหาจิตสำนึกเป็นเรื่องแรก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าสงสารแทนประเทศชาติที่ใช้งบฯ หวังสร้างบุคลากร แต่กลับต้องมาสูญเสียบุคลากรให้กับต่างประเทศ

ถัดมาคือระบบติดตามหนี้ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรจะติดตามหนี้เอากับคนรับทุนให้ถึงที่สุดก่อน แต่ระบบราชการไทย พอติดตามเอากับคนรับทุนยาก ก็จะหันมาเอากับผู้ค้ำซึ่งเรื่องน่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือ ถ้ามีคนค้ำฯ ทำงานในที่เดียวกัน ก็จะเอากับคนๆ นั้นก่อน เท่ากับว่า เอาเงินคนดีไปเสียให้กับคนไม่ดี

ฉะนั้นเมื่อรัฐตามหนี้มาได้หมดแล้วก็ควรต้องรีบคืนเงินให้กับคนค้ำฯ ส่วนที่ถามว่ารัฐควรล้อมคอกปัญหาอาจารย์เบี้ยวทุนอย่างไร มองว่าต้องเลือกคนเก่งและคนดีมารับทุน ซึ่งต้องพยายามใช้วิจารณญาณและดูคุณสมบัติอื่นเท่าที่จะหาได้ มาประกอบกัน

เมื่อถามต่อว่า จะฝากถึงผู้รับทุนอย่างไรบ้าง นพ.พรชัย กล่าวว่า ความจริงมีทุนมากมายหลายประเภท อยากให้เลือกให้ดี เลือกให้เหมาะสมกับตนเองและเมื่อตัดสินใจทำสัญญาผูกพันแล้ว ก็ควรต้องปฏิบัติตามสัญญา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook