อภิสิทธิ์ จี้ไอซีทีปิดเว็บขายตัว จุรินทร์ นัดม.รัฐ-เอกชนถกแก้

อภิสิทธิ์ จี้ไอซีทีปิดเว็บขายตัว จุรินทร์ นัดม.รัฐ-เอกชนถกแก้

อภิสิทธิ์ จี้ไอซีทีปิดเว็บขายตัว จุรินทร์ นัดม.รัฐ-เอกชนถกแก้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯอภิสิทธิ์จี้ไอซีทีเร่งปราบเว็บ นศ.ขายตัว ยันศธ.ไม่นิ่งนอนใจ จุรินทร์ นัด ม.รัฐ-เอกชนถกแก้นศ.ขายตัวผ่านเว็บ เร่งปลูกฝังเลิกฟุ้งเฟ้อ ใช้ชีวิตพอเพียง ประสาน ก.ไอซทีงัดกฎหมายสั่งปิดพร้อมเชือดเว็บไม่เหมาะสม

เมื่อเวลา 14.20 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเว็บไซต์ประกาศขายตัวของนักศึกษา ว่า กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งยอมรับว่ามาจากค่านิยมของเด็กและเยาวชน ทำให้เราต้องมารณรงค์อย่างจริงจังมากขึ้น แต่ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล แต่ส่วนใดที่สามาถป้องกันและปราบปรามก็ต้องดำเนินการไป

เมื่อถามว่านายกฯจะมีมาตรการเชิงรุกในการจัดการปัญหานี้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การรณรงค์และค่านิยมต่างๆต้องทำผ่านกระบวนการศึกษา ซึ่งเราก็เร่งทำอยู่ในหลายเรื่อง ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในช่วงบ่ายของวันนี้(2 ก.พ.) ตนจะเน้นย้ำเรื่องการสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนเติบโตมาเพื่อให้มีค่านิยมที่จะดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่านักศึกษาที่ขายบริการอยู่ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง จะมีการเข้าไปดูแลเป็นการเฉพาะหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจ เช่น ปัญหานักเรียนตีกัน ก็เข้าไปดูเต็มที่ เมื่อถามว่าคิดว่าจะแก้ไขได้ในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา แม้จะทำดีที่สุด แต่ปัญหาคงไม่หมดไปง่ายๆ และปัญหาใหม่ๆจะเกิดขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สิ่งสำคัญคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้

เมื่อถามว่า มีเว็บไซต์ในเว็บไซต์ไฮ-ไฟว์ด้วย จะเข้าไปเปิดดูด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไฮไฟว์ของตน ตนก็มีคนมาขอเป็นเพื่อนด้วยจำนวนมาก แต่ระยะหลัง ตนมีเวลาติดตามดูน้อยลง แต่ไม่มีอะไร ทั้งนี้ก็มีบางรายที่เข้ามาแสดงความเห็นที่ไม่เหมาะสม แต่ก็มีคนคอยดูแลจัดการอยู่

"จุรินทร์"จี้4บิ๊กศธ.แก้เด็กตีกัน-นศ.ขายตัวผ่านเว็บไซต์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยถายหลังหารือร่วมกับผู้บริหาร 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้ยกปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ขึ้นมาหารือ เพราะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดเหตุขึ้นหลายครั้งและลุกลามไปถึงสถานศึกษาประเภทอื่นด้วย ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะนักศึกษาอาชีวะเช่นในอดีต ดังนั้น ตนจึงได้สั่งการให้ผู้บริหาร 4 องค์กรหลัก คือ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) สำนักบริหารงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ไปประชุมร่วมกันเพื่อยกร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดมาตรการให้สถานศึกษาของ 4 สังกัด รับไปปฏิบัติตามเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนักเรียน นักศึกษา ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกันขึ้นมาอีก

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวซึ่งคาดว่า ทางกระทรวงจะยกร่างเสร็จและเสนอขึ้นมาภายใน 2 วันนี้นั้น นอกจากบรรจุมาตรการป้องกันนักเรียน นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันแล้ว จะมีการกำชับทุกสถานศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อป้องกันปัญหานี้ที่มีอยู่แล้วอย่างเคร่งครัด หากพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครู หรือนักเรียน นักศึกษา ทำผิดกฎ ระเบียบ จะต้องถูกทำโทษ นอกจากนั้น ในส่วนของสถานศึกษาเองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย นอกจากนั้น ในยกร่างประกาศกระทรวง จะระบุให้สถานศึกษา จัดอบรม พร้อมจัดระบบดูนักเรียนด้วย โดยเฉพาะเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

" ได้ขอให้เลขาธิการกพฐ. เลขาธิการกกอ. เลขาธิการกอศ.และสช. กำชับสถานศึกษาในสังกัด ให้ดูแลนักเรียน นักศึกษา ในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงใกล้ปิดเทอม ร.ร.ต่าง ๆ จึงระดมกันจัดกิจกรรมแข่งกีฬา และนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ซึ่งอาจเกิดเหตุกระทบกระทั่งกัน นำไปสู่การทะเลาะวิวาทกันได้ ทั้งนี้ หากสถานศึกษาใดปล่อยปะละเลยจนเกิดเหตุขึ้นมา มิเพียงจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ผู้บริหาร ครูก็จะต้องถูกลงโทษทางวินัยตามระเบียบ สำหรับบทลงโทษสถานศึกษาและผู้บริหารนั้นมีอยู่แล้วโดยอาศัยระเรียบ กฎต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น รมว.ศธ. มีอำนาจที่จะสั่งให้สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวในบางสาขา หรือ ลงโทษที่รุนแรง โดยสั่งปิดสถานศึกษาก็ได้"รมว.ศธ. กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่า มาตรการจะบรรจุในร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปลงตัว แต่วันนี้ มีข้อเสนอที่แต่ละหน่วยงานอยากให้กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมีทั้ง ให้สถานศึกษาระดมความร่วมมือจากศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และนร. นศ.ปัจจุบัน สร้างเครือข่ายลบล้างวัฒนธรรมความเชื่อแบบผิดๆในการทำร้ายหรือจับคู่เป็นศัตรูกันระหว่างสถาบัน ให้สถาบันการศึกษาประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจเยี่ยม หรือตรวจค้นอาวุธในสถาบันเป็นครั้งคราว ตรวจสอบรถทุกชนิดที่เข้าออกสถาบันอย่าละเอียด บังคับให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์เข้ามาในสถาบันถอดหมวกนิรภัย ปรับปรุงกล้องวงจรปิด หรือติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดล่อแหลม จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ สมานฉันท์ร่วมกันระหว่างสถาบันที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีการเสนอว่าแต่ละสถานศึกษาควรมีการตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบดูแลปัญหานร. ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกันเป็นการเฉพาะเพื่อดูแลเหตุทั้งในและนอกสถานศึกษา ทำเครือข่ายดูแลปัญหาร่วมกันระหว่างร.ร. จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วสำหรับระงับเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่การศึกษา จัดโครงการอบรมหลักสูตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนร.ที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในแต่ละร.ร. เป็นต้น ข้อเสนอเหล่านี้ต้องนำมากลั่นกรองให้ลงตัวอีกที

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้ได้พิจารณาแนวทางแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษา ประกาศขายตัวผ่านอินเตอร์เน็ต เช่นผ่านเว็บไฮไฟว์ หรือเว็บอื่นๆ ซึ่ง สกอ.และหน่วยงานที่ถูกพาดพิงว่ามีนศ.ก่อพฤติกรรมดังกล่าว จะจัดประชุมรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกสังกัดทั่วประเทศ ระดมความเห็นในการแก้ปัญหานี้ และเห็นว่าสถานศึกษาควรต้องมุ่งเน้นรณรงค์ให้เด็กทุกระดับมีค่านิยมใช้ชีวิตแบบพอเพียง เลิกฟุ้งเฟ้อ ขายตัวแลกกับการนำเงินมาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และยังได้มอบหมายปลัดศธ.ไปประสานกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยตรวจสอบเว็บไซต์ที่ปล่อยปะละเลยให้มีเยาวชนกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเผยแพร่ผ่านเว็บนั้น โดยให้ใช้ข้อกฎหมายทุกช่องทางจัดการกับเว็บที่มีปัญหา รวมไปถึงดำเนินการปิดเว็บที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook