ทะลวงแดนสนธยา แกะรอย กกต. หมกเม็ด-ดองคดี-เป่าทิ้งใบเดงระวังปกปิดข้อมูล ลิ้นพันคอตัวเอง หนึ่ง สอง

ทะลวงแดนสนธยา แกะรอย กกต. หมกเม็ด-ดองคดี-เป่าทิ้งใบเดงระวังปกปิดข้อมูล ลิ้นพันคอตัวเอง หนึ่ง สอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กตต.เคยมีมติตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่ 2 นายกรณีปลอมลายมือชื่อในเอกสารที่ยื่นต่อศาลฎีกาคดีทุจริตเลือกตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช แต่จนบัดนี้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งปียังไม่มีความคืบหน้าใดๆ กรณี นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 6 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ กกต.มีความเห็นว่า มีพฤติการณ์หลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จจริงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 เป็นการ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53(5)

แต่กลับมีมติให้ดำเนินคดีอาญาเพียงอย่างเดียว โดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้ใบแดงเหมือนกับกรณีอื่นๆนั้น( มี กกต.เสียงข้างน้อย 2 คนที่เห็นว่า ควรให้ใบแดงนายบุญจงคือ นายสุเมธ อุปนิสากร และ นายประพันธ์ นัยโกวิท )

กำลังจะกลายเป็นหอกที่ทิ่มเข้าใส่ กกต. ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทั้งจากพรรคเพื่อไทยที่จ้องขย้ำนายบุญจงและจาก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ระบบสรรหาซึ่ง กกต.อ้างว่า องค์กรที่ส่งนายเรืองไกรเข้าสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อสอยนายเรืองไกรพ้นจากเก้าอี้

ยิ่ง นายสมชัย จึงประเสริฐ 1 ใน 5 กกต.และ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ออกมาชี้แจง ก็ยิ่งเห็นอาการลิ้นพันคอตัวเองหนักยิ่งขึ้นซึ่งข้ออ้างของบุคคลทั้งสองสรุปได้ดังนี้

นายบุญจงไม่ได้ชนะเลือกตั้งในการลงคะแนนเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 แต่ผู้ชนะคือ นายพลพีร์ สุวรรณฉวี จากพรรคเพื่อแผ่นดิน แต่เมื่อมีการให้ใบเหลืองนายพลพีร์ มีการลงคะแนนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2551 นายบุญจงเป็นผู้ชนะ(นายสมชัย เป็นผู้ชี้แจง)

แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้สมัครที่สอบตกหลายคดี ถูก กกต.ให้ใบแดง ซึ่ง กกต.ต้องส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยเร็ว

การมีความผิดตามมาตรา 53 (ผู้สมัครทุจริตเลือกตั้ง) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯไม่ได้หมายความว่า ต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งทุกกรณีไป แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของ กกต. ถ้าเห็นว่า มีระดับความร้ายแรงฯ มีการยกตัวอย่างคดีจากการประชุม กกต. 3 ครั้งเป็นตัวอย่างคือ ครั้งที่ 61/2551, 81/2551 และ 139 /2551 ซึ่ง กกต.มีมติให้ดำเนิอนคดีอาญาอย่างเดียว(นายสุทธิพล ทวีชัยการ) เป็นผู้ชี้แจง

แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของมติชนออนไลน์พบว่า มติ กกต. 2 ครั้งคือครั้งที่ 61/2551 ผู้สมัคร ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน ซึ่งสอบตกกระทำความผิดตาม มาตรา 59และ 60 เป็นความผิดเกี่ยวกับการติดป้ายโฆษณาและหาเสียงทางวิทยุกระจายเสียงและ ครั้งที่ 81 /2551 ดร.มานะ มหาสุวีรชัย ผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาราช กระทำความผิด มาตรา 60 เกี่ยวกับการหาเสียงทางวิทยุกระจายเสียงซึ่งมีโทษเบากว่าการทุจริตเลือกตั้ง

สำหรับมติ กกต. ครั้งที่ 139/2551 ไม่สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของ กกต.

การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่ารเลือกตั้งฯนั้น มีหลายฐานความผิด เช่น การทถุจริตของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับต่างๆ, การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ, การกระทำความผิดของผู้สมัครในการทุจริตเลือกตั้ง(มาตรา 53) ในการใช้เงินหาเสียงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด, การโฆษณาหาเสียงผิดข้อกำกำหนดของ กกต.ซึ่งความผิดแต่ละฐานมีโทษหนักเบาต่างกัน

ทั้งนี้ความผิดของ ผู้สมัครในการทุจริตเลือกตั้งของผู้สมัครนั้น กกต.จะต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือให้ใบแดง แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดของหัวหน้าคะแนนหรือผู้ใกล้ชิดผู้สมัคร มักจะได้ใบเหลืองหรือให้มีการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น และถ้าเป็นความผิดเกี่ยวกับการกาติดป้ายหาเสียงจะแค่ดำเนิอนคดีอาญา

นอกจากกรณีนายบุญจงแล้ว กตต.เคยมีมติตั้งคณะกรรมการ สอบสวนวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนสอบสวน 2 นายกรณีปลอมลายมือชื่อในเอกสารที่ยื่นต่อศาลฎีกาคดีทุจริตเลือกตั้ง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนวินัยร้ายแรงเมื่อกลางปี 2551 (เอกสารข่าว สำนักงาน กกต. เลขที่ 95_2551 วันที่ 26 มิถุนายน 2551)

แต่จนบัดนี้เวลาผ่านไปกว่าครึ่งปียังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่รู้ดองเรื่องอยู่ที่ไหน เพราะมีข่าวว่าระดับบิ๊กใน กกต.พยายามปิดคดีโดยการช่วยเหลือเจ้าหน้ราที่ที่ถูกกล่าวหา ทั้งๆที่การปลอมแปลงลายมือชื่อในเอกสารราชการเป็นทั้งความผิดอาญาและผิดวินัยร้ายแรง

เอกสารข่าวของสำนักงาน กกต.ระบุรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพนักงานสำนักงาน กกต.ถูกกล่าวหาปลอมแปลงเอกสารอันเป็นเท็จการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของ นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ (พยานคนสำคัญในคดีนายยงยุทธ)ว่า สำนักงาน กกต. ได้ให้ความสำคัญและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด กกต.ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่พนักงานของสำ นักงาน กกต. จำนวน 2 ราย ( พ.ต.ท.กฤษณ์ ณ เชียงใหม่ และนายเอกลักษณ์ บุญรุ่ง) ซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการจัดทำเอกสารขอตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ โดยการปลอมลายมือชื่อของ พ.ต.อ. ณัฐศักดิ์ นานาวัน ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 5 แจ้งผลการตรวจสอบสมาชิกพรรคการเมืองของนายชัยวัฒน์ ให้แก่ นายสาคร ศิริชัย ทนายความของนายยงยุทธ ติยะไพรัช เพื่อนำไปยื่นศาลฎีกา ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบของสำนักงาน กกต. อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงาน กกต.อย่างร้ายแรง หากการสอบสวนพาดพิงถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของพนักงานผู้อื่นก็ให้มีอำนาจสอบสวนในส่วนที่เกี่ยวข้องนี้ด้วย

นอกจากนี้เลขาธิการ กกต. ยังกล่าวด้วยว่า สำ นักงาน กกต.กำลังเร่งสอบสวนข้อเท็จจริงประเด็นที่ นายศิริโชค โสภา ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีสำนักงาน กกต.โดยด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ชี้แจงผลการตรวจสอบข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของนายชัยวัฒน์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และวันที่ 15 พฤษภาคม 2551ไม่ตรงกันและสงสาจะมีการปกปิดข้อมูลหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางคดีแก่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อีกด้วย

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว แล้วเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป

จากเอกสารแถลงข่าวนายสุทธิพลระบุว่า ได้ให้ความสำคัญและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และ จะเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว

แต่เวลานี้เวลาผ่านไป 6 เดือน คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่มี นายสมชาติ เจศรีชัย รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธาน สอบสวนไปถึงไหนแล้ว ไม่มีใครทราบ

นอกจากนั้นการที่ พ.ต.อ. ณัฐศักดิ์ นานาวัน ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 5 ลงนามรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งๆที่เป็นการปลอมลายมือชื่อตนเองน่าจะเป็นประเด็นสำคัญซึ่งอาจเชื่อมโยงถึงทนายความของนายยงยุทธและนายยงยุทธด้วยหรือไม่

การสอบสวนล่าช้าดังกล่าวทำให้น่าสงสัยว่า มีอะไรเกิดขึ้นในสำนักงาน กกต.

เพราะก่อนหน้านี้ในสมัย กกต.ชุดที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน มีกว่า 20 สำนวนที่การร่างคำวินิจฉัยไม่ตรงกับมติ กกต.กล่าวคือ มติ กกต.ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) เขียนคำวินิจฉัยออกมาเป็นใบเหลือง (แค่จัดการเลือกตั้งใหม่) มติที่ให้ใบเหลือง เขียนคำวินิจฉัยเป็นใบขาวหรือไม่มีความผิด ซึ่งน่าสงสัยว่า จะเป็นการขายสำนวนหรือแสวงหาผลประโยชน์จากสำนวนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ปรากฏว่า กกต.ชุดปัจจุบันได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน ให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เขียนคำวินิจฉัยสถานเบาแค่ตัดเงินเดือน โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่สาธารณชนทราบทั้งๆที่เป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ

เช่นเดียวกับมติ กกต.จำนวนมากที่ถูกหมกเม็ดไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เว็บไซต์ของ กกต.ก็พิกลพิการขาดข้อมูลสำคํญจำนวนมากทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของ กกต.ได้

ทำให้ กกต.กลายเป็นแดนสนธยาอย่างเช่นทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook