เส้นทางสีเขียว

เส้นทางสีเขียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลังจากที่ได้นำเสนอแนวความคิดของผลงานที่ได้รับรางวัลในหัวข้อ นวัตกรรมสำหรับการเดินทางที่ประหยัดพลังงาน/พลังงานทางเลือก ของโครงการ เดลินิวส์- SCG ต่อยอดนวัตกร ที่ทาง น.ส.พ.เดลินิวส์ ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย (SCG) จัดขึ้นไปเรียบร้อยแล้ว

สัปดาห์นี้จึงถึงคิวเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อการสร้างพื้นที่สีเขียว ในการประกวดประเภท นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น-มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (ปวช.) เริ่มด้วยผลงาน เส้นทางสีเขียว ที่ได้รับรางวัลชมเชย จากแนวคิดของ ด.ญ.เขมิกา มีใจรัก นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ

น้องเขมิกา บอกว่า แนวคิดผลงานชิ้นนี้มาจากที่ปัจจุบันเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ ทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า มลพิษจากรถยนต์ ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม จนส่งผลให้เกิดสภาวะเนกระจกและเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา

ทั้งนี้สิ่งที่จะช่วยกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ คือ ต้นไม้ โดยต้นไม้จะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหารและคายออกซิเจนออกมาแทน ในปัจจุบันพื้นที่ที่เป็นดินในเมืองหายากขึ้นและมีราคาสูง บริเวณปลูกต้นไม้ของแต่ละบ้านจึงลดน้อยลง จึงเกิดแนวคิดที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารบ้านเรือนและชุมชน โดยการปลูกต้นไม้ในท่อพีวีซี ไม่ว่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ประดับ รวมไปถึงพืชผักสวนครัว โดยที่สามารถนำไปปลูกในที่ ต่าง ๆ ได้ เคลื่อนย้ายได้สะดวก สามารถใช้เป็นอาหาร เพิ่มความสวยงามและช่วยลดมลพิษได้

สำหรับวัสดุอุปกรณ์ประกอบด้วย ท่อพีวีซีขนาด 4 นิ้ว ยาว 1.5 เมตรจำนวน 2 ท่อน และท่อพีวีซี ขนาด 2 นิ้ว ยาว 1 เมตร 1 ท่อน และยาว 2 เมตร 1 ท่อน สายยาง ขนาดครึ่งิ้วยาว 4 เมตร 1 เส้น ดินปลูกต้นไม้ และนอตเพื่อใช้ยึดขา ส่วนวิธีประดิษฐ์ให้ เจาะรูเพื่อปลูกต้นไม้บนท่อพีวีซี 4 นิ้ว รูมีความกว้าง 2 นิ้ว ระยะห่าง 20 ซม. และเจาะรูเล็ก ๆ ด้านล่างเพื่อระบายน้ำออก จากนั้นประกอบ ยึดติดกับขาท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้วด้วยนอต เสร็จแล้วต่อสายยางที่เจาะรูไว้เพื่อให้น้ำหยดลงรูที่จะใช้ปลูกต้นไม้ และปิดปลายท่อที่ใช้ปลูกต้นไม้ทั้งสองข้าง สุดท้ายนำดินมาใส่แล้วปลูกต้นไม้หรือพืชผักสวนครัว

น้องเขมิกา บอกว่าประโยชน์ที่ได้รับ คือการเพิ่มพื้น ที่สีเขียว ใช้งานได้ทุกที่ทั้งพื้นที่แคบ ๆ และยังใช้เพื่อประดับตกแต่งสถานที่เพื่อเพิ่มความสวยงาม รวมถึงช่วยลดมลพิษโลกร้อนด้วย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook