กรณ์ จาติกวณิช เล่าเรื่องป่าหลังไร่ถูกบุกรุก ร้องเรียน 2 ปีกว่ายังเงียบ

กรณ์ จาติกวณิช เล่าเรื่องป่าหลังไร่ถูกบุกรุก ร้องเรียน 2 ปีกว่ายังเงียบ

กรณ์ จาติกวณิช เล่าเรื่องป่าหลังไร่ถูกบุกรุก ร้องเรียน 2 ปีกว่ายังเงียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(25 เม.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij โดยระบุว่า พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์บนภูเขา ซึ่งอยู่หลังไร่ของตนเอง อยู่ที่ตำบลชะอม จ.สระบุรี ก็ถูกบุกรุก ซึ่งตนเองได้พยายามร้องเรียนไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่เรื่องยังเงียบ พร้อมวอนให้คสช.เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

"คนไทยกำลังตื่นตัวมากขึ้นกับการสูญเสียพื้นที่ป่าของเรา

ฝนไม่ตก อากาศร้อน การสูญเสียป่ามีส่วนแน่นอน

เหตุผลที่มีการบุกรุกป่ามีหลากหลาย

แต่วันนี้ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟัง ว่าปัญหานี้มันมีแง่มุมที่บัดซบแค่ไหน

ผมมีที่ไร่เล็กๆอยู่ที่ตำบลชะอม จังหวัดสระบุรี ผมใช้ไร่นี้ทดลองปลูกข้าว-ผัก-ผลไม้แนวอินทรีย์ หลังไร่นี้มีภูเขาเล็กๆอยู่ลูกหนึ่ง บนเขานี้เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่และพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ชาวบ้านแถวนั้นสามารถขึ้นไปแสวงหาหน่อไม้และลูกไม้เพื่อการบริโภคได้

บนแผนที่โฉนดของกรมที่ดินนั้น พื้นที่นี้จะมีการระบุไว้ชัดว่าเป็น 'ภูเขา' ออกเอกสารสิทธิ์ใดๆไม่ได้แน่นอน

แต่เมื่อต้นปี ๒๕๕๖ มีครอบครัวหนึ่ง (ซึ่งมีบ้านและที่ดินอยู่ติดกับบ้านผมเอง) ได้นำรถไถและเครื่องจักรขึ้นไปตัดต้นไม้ ถางป่า และล้อมเขาด้วยรั้วและประตูเพื่อยึดเป็นของตน จากนั้นได้ปลูกบ้านและ (ที่น่าแปลกใจยิ่ง) ทางการไฟฟ้าได้ลงเสาไฟฟ้าและเดินสายไฟเข้าไปถึงบ้านหลังนี้อย่างหน้าตาเฉย

ชาวบ้านแถวนั้นไม่มีใครกล้าทำอะไร ก็มาร้องเรียนกับผม

สิ่งแรกคือผมได้ขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองในจังหวัดนั้น (ไม่ใช่ปชป.) สักพักเขามาพูดกับผมอย่างตรงไปตรงมาว่าเขาขอไม่ยุ่ง

ผมเลยบอกเขาว่า ไม่เป็นไร ผมเป็นคนนอกพื้นที่ ผมจัดการเอง ผมก็ทำเรื่องร้องเรียนไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น กรมป่าไม้ ตำรวจ หรือกรมที่ดิน

คนที่ดูแลบ้านและไร่ผมเดือดร้อนมาก เพราะโดนขู่ถึงชีวิตอยู่ทุกวัน แต่เขาก็ไม่กลัว

นั่นคือปี ๒๕๕๖ ซึ่งผมก็ได้รับการยืนยันจากราชการรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบว่ากรณีนี้เป็นการบุกรุกจริง ต้องดำเนินคดี

แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนมีการปฏิวัติ

ผมก็เห็นว่าท่านประยุทธ์ส่งสัญญาณจริงจัง (มาก) กับเรื่องการปราบการบุกรุกป่า ถึงกับมีประกาศคสช.ว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือประกาศที่ ๖๔ และ ๖๖ ไปหาอ่านเอาเองได้ครับ เอาว่าขึงขังมาก

ผมก็เลยส่งเรื่องถึงท่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ และบอกท่านว่าถ้าท่านจัดการเรื่องนี้ได้ ผมขออาสาเข้าไปช่วยฟื้นฟูป่าเอง

ท่านก็กรุณาส่งคนลงไปสืบสวนอย่างละเอียด และส่งจดหมายลงนามด้วยตัวท่านเองคู่กับท่านอธิบดีกรมป่าไม้ ในจดหมายก็ยืนยันว่าพื้นที่ร้องเรียนเป็นป่าสงวนที่บุกรุกครอบครองไม่ได้ และเรื่องนี้ต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แล้วท่านก็ส่งเรื่องไปที่สภ. แก่งคอย (ที่ผมเคยไปแจ้งความไว้แต่แรก และสภ. นี้ก็ได้ยืนยันแต่แรกว่ามีการบุกรุกจริง)

จากนั้นเรื่องก็เงียบไป พอหลังสงกรานต์ผมก็เลยสอบถามไปที่สภ.แก่งคอยว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว

คำตอบที่ได้รับคือเมื่อเดือนที่แล้วทางสภ.เพิ่งได้ส่งสำนวนสั่งฟ้องไปถึงอัยการเพื่อให้อัยการดำเนินการต่อไป

นั่นคือ ๒ปี ๖เดือน พอดีๆในการร่างสำนวน!!!

จากนี้ผมไม่แน่ใจว่าอัยการจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด (คงจะเป็นปี) และผมไม่แน่ใจว่าสำนวนที่ตำรวจเขียนไปนั้นรัดกุมแค่ไหน (พูดก็พูดเถอะ ตำรวจส่งสำนวนไปถึงอัยการแล้วจริงหรือไม่ผมยังไม่แน่ใจเลย เพราะยังไม่เห็นกับตา)

จากนั้นถ้าอัยการสั่งฟ้อง กระบวนการศาลจะใช้เวลาอีกนานเท่าไร และเมื่อมีคำพิพากษากระบวนการบังคับคดีจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี

ระหว่างนี้ผู้บุกรุกก็ยังอาศัยช่องโหว่กฎหมายยึดพื้นที่บนเขานี้อยู่ และเลวร้ายที่สุด ผู้บุกรุกได้อ้างชื่อแม่ของตนในการยึดครองพื้นที่นี้ คุณแม่เป็นคนชรา อยู่ดีๆถูกกล่าวหาทางอาญา โดยที่ลูกสาวที่เป็นผู้ได้ประโยชน์ไม่ต้องรับผลการกระทำเลย อย่างเลวก็อยู่ฟรีบนที่สาธารณะไป ๕ปี ๑๐ปี ถ้าแพ้คดีก็ย้ายออก

จากเรื่องเล็กๆเรื่องนี้ทำให้ผมเห็นว่าทำไมการบุกรุกทำลายป่าจึงได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เพราะผลตอบแทนมันโคตรคุ้มเมื่อเทียบกับความเสี่ยง และที่ทำได้ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นเป็นใจ

กรณีนี้ถือว่าโชคเขาไม่ดีนะครับ ที่ผู้บุกรุกมีผมเป็นผู้รับคำร้อง และพอดีผมเป็นผู้ที่เห็นการกระทำผิดอย่างซึ่งๆหน้า แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังได้รับความร่วมมือจากกระบวนการที่หละหลวม (หรืออาจจะเลวร้ายกว่าแค่'หละหลวม') ของทางราชการ และทุกวันนี้ก็ยังได้ประโยชน์จากการละเมิดกฎหมายอย่างอุกอาจ

ผมขอถามว่าการไฟฟ้าลงเสาไฟและเดินไฟเข้าไปได้อย่างไรในที่ๆราชการเองได้มีคำสั่งแจ้งการบุกรุกอย่างเป็นทางการ ถ้าการไฟฟ้าอ้างว่าท้องถิ่นได้มีการยืนยันกรรมสิทธิที่ดินของผู้บุกรุก ก็ต้องถามว่าท้องถิ่นยืนยันสิทธิด้วยเอกสารอะไร และเมื่อวันนี้การไฟฟ้ารู้แล้วว่ามีการบุกรุก และเสาไฟฟ้าของตนได้ปักอยู่บนพื้นที่ป่า การไฟฟ้าจะไม่ดำเนินการใดๆเลยหรือ

ผมขอถามต่อไปด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอธิบายอย่างไร ว่าทำไมจึงต้องใช้เวลาถึงสองปีครึ่งในการร่างสำนวน (นี่ขนาดตนเองได้ยืนยันมาแล้วเมื่อสองปีก่อนว่ากรณีนี้เป็นการบุกรุกจริง)

ผมจึงอยากจะแจ้งให้คสช.ทราบด้วยครับ ว่านี่ขนาดเรื่องเล็กๆที่มีผู้เกี่ยวข้องน้อยมากบนข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนขนาดนี้ คำสั่งและนโยบายของท่านยังไร้ความหมาย ถ้าท่านไม่ใช้อำนาจและโอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลง พื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะของบ้านเมืองเราจะหมดสิ้น และจะกลายเป็นว่าใครที่ไม่ฉวยโอกาสไขว่คว้าสมบัติสาธารณะไว้เป็นของตนคือคนโง่ โลกสวย ที่ยังหลงคิดว่ากฎหมายบ้านเมืองมีความหมาย"

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊กKorn Chatikavanij

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook