มีชัยค้านตปท.ดูประชามติ-พร้อมแจงรธน.รอคุยสนช.

มีชัยค้านตปท.ดูประชามติ-พร้อมแจงรธน.รอคุยสนช.

มีชัยค้านตปท.ดูประชามติ-พร้อมแจงรธน.รอคุยสนช.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'มีชัย ฤชุพันธุ์' ค้านต่างประเทศสังเกตการณ์ในวันออกเสียงประชามติ บอกเป็นเรื่องภายในประเทศ - พร้อมชี้แจงร่าง รธน. รอคุย สนช. ขณะที่ 'วิษณุ' แนะแสดงความคิดเห็นประชามติ ระวังผิดกฏหมาย

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์ในวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นเรื่องภายในประเทศที่สามารถจัดการได้ ทั้งนี้ เมื่อต่างชาติมีการเลือกตั้งก็ไม่เคยเชิญไทยไปสังเกตการณ์ จึงไม่มีความจำเป็น แต่หากจะส่งใครมา ก็อาจจะมาในรูปแบบส่วนตัวหรือเป็นนักท่องเที่ยว

สำหรับการลงพื้นที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน กรธ. มีความพร้อมเต็มที่ โดยการอบรมวิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย หรือ ครู ก. จังหวัดละ 5 คนนั้น ได้กำหนดให้มีตัวแทนเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนฝ่ายทหาร องค์กรชุมชน และที่เหลือมาจากการคัดเลือกของผู้ว่าราชการจังหวัด

ขณะเดียวกัน วันนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เข้าหารือเพื่อร่วมชี้แจงในประเด็นคำถามพ่วงประชามติ พร้อมรายงานตัวเลขสมาชิก สนช. และ สปท. ที่ลงชื่อเป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยงาน กรธ. ในการชี้แจงจึงเชื่อว่า จะส่งผลดีให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงมากขึ้น


วิษณุแนะแสดงความคิดเห็นประชามติระวังผิดกม.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นประชามติว่า อะไรที่อยู่ภายใต้ความเสี่ยง ที่จะผิดกฏหมาย ขอให้มีความระมัดระวังด้วย เพราะอาจผิดกฎหมายได้ ทั้งกฎหมาย คสช. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบการออกเสียงประชามติที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาด้วย จึงย้ำให้ใช้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ การที่ กกต. ได้ออกมาแนะนำว่าอะไรทำได้ และไม่ได้นั้น เป็นเพียงการแนะนำในภาพกว้าง โดยต้องไม่ทำอะไรให้ผิดความเป็นจริง ไม่ฝ่าฝืน ไม่รุนแรง ไม่ข่มขู่ ไม่ก้าวร้าว หยาบคาย และปลุกระดม ซึ่งเชื่อว่า ประชาชนจะไม่ทำอะไรที่เป็นสุ่มเสี่ยง


ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งสังเกตในกรณีการใช้งบประมาณโครงการประดับตกแต่งไฟบริเวณลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 39 ล้านบาทนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องแจ้งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ ซึ่ง สตง.ไม่สามารถลงโทษได้ แต่สามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการสอบสวนต่อไป พร้อมยืนยันว่า หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติจนกว่าจะมีการชี้มูลความผิด หรือ มีคำสั่งจาก คสช.


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook