กรมทรัพยากรน้ำ ระบุ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปีนี้มี 16 จังหวัด

กรมทรัพยากรน้ำ ระบุ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปีนี้มี 16 จังหวัด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรมทรัพยากรน้ำ ระบุ พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปีนี้มี 16 จังหวัด พร้อมจัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งขึ้นในทุกภูมิภาค เพื่อเป็นศูนย์แจ้งเตือนสถานการณ์ภัยแล้งและเป็นช่องทางสำหรับการขอรับความช่วยเหลือต่างๆ นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ได้ประเมินสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในปีนี้ เบื้องต้นคาดการณ์จังหวัดที่มีโอกาสเสี่ยงภัยแล้งมาก 16 จังหวัดแบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน สุโขทัย และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร นครพนม หนองคาย อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ขณะเดียวกันยังมีอีก 20 จังหวัด ที่มีโอกาสเสี่ยงภัยแล้งปานกลาง เช่น อำนาจเจริญ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย ลพบุรี สระบุรี พิษณุโลก ตราด ลำปาง เพชรบุรี ระนอง สงขลา สตูล และกระบี่ เป็นต้น โดยขณะนี้ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดย กรมชลประทานดูแลพื้นที่ในเขตชลประทานประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูแลด้านสังคม กรมอุตุนิยมวิทยาจะดูแลปัจจัยเรื่องฝน และสำนักฝนหลวงฯ จะช่วยเหลือในการทำฝนเทียม นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์บรรเทาภัยแล้งขึ้นในทุกภูมิภาค ไม่น้อยกว่า 10 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์แจ้งเตือนสถานการณ์ภัยแล้งและเป็นช่องทางสำหรับการขอรับความช่วยเหลือต่างๆ เช่น เครื่องผลิตน้ำ และรถบรรทุกแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมอบหมายให้เร่งตรวจสอบประสิทธิภาพประปาหมู่บ้านทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 70,000 แห่ง นายศิริพงศ์ ยังกล่าวแนะนำประชาชนควรใช้น้ำอย่างประหยัด ต้องกำจัดวัชพืชที่มีอยู่ในแหล่งน้ำ เนื่องจากวัชพืชเป็นสาเหตุทำให้น้ำระเหยเร็วขึ้นถึง 5 เท่า ซึ่งปริมาณน้ำจะลดลงและแห้งเร็วกว่าแหล่งน้ำที่ไม่มีวัชพืช สำหรับเกษตรกรที่จะทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งปีนี้ ควรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและเหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ และที่สำคัญชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่ และต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษในน้ำเพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตาม หากประชาชนต้องการขอรับความช่วยเหลือเร่งด่วนสามารถติดต่อได้ที่ โทร.0-2271-6000
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook