ก.วิทย์ฯสนองพระราชดำริในหลวงเล็งจัดงบ10 ล้านติดตั้งโทรมาตรเตือนภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ

ก.วิทย์ฯสนองพระราชดำริในหลวงเล็งจัดงบ10 ล้านติดตั้งโทรมาตรเตือนภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงวิทย์เล็งจัดสรรงบฯ 10 ล้านสนองพระราชดำริในหลวง ดำเนินการติดตั้งโทรมาตรครอบคลุมทั่วประเทศเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้า เผยทรงแนะจัดการถนนขวางทาง แก้ปัญหาน้ำท่วมจันทบุรี สถาบันน้ำเตือนระวังน้ำท่วมจากพายุ ชี้รุนแรงกว่าเกิดจากร่องความกดอากาศต่ำ ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือ

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เข้าหารือกับคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการ วท. เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ถึงแนวทางการดำเนินการจัดการน้ำปี 2552 หลังจากเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธาน สสนก. และนายรอยล จิตรดอน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทย ปี 2551

นายรอยลกล่าวว่า ได้กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในปี 2551 และแนวโน้มสถานการณ์น้ำปี 2552 ว่า ปีนี้คาดว่าน้ำจะมีปริมาณมาก เนื่องจากปี 2551 ฝนตกชุก เห็นได้จากปริมาณฝนสะสมสูงถึง 1,543 มิลลิเมตรต่อปี จากปกติที่ 1,374 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าเกณฑ์ถึงร้อยละ 12.32 ทั้งๆ ที่ 20-30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีปริมาณน้ำฝนที่เกินเกณฑ์มาตรฐานขนาดนี้ หากจะเกินก็จะไม่ถึงร้อยละ 9 โดยฝนที่ตกหนักได้ส่งผลให้น้ำท่วมถึง 9 ครั้ง ซึ่งสาเหตุของการเกิดฝนส่วนใหญ่ มาจากร่องความกดอากาศต่ำ 6 ครั้ง ส่วนอีก 3 ครั้งเกิดจากพายุ ทั้งพายุไซโคลน นาร์กีส พายุโซนร้อนเมขลาและนูน

นายรอยลกล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาน้ำท่วมมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคใต้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้คาดการณ์ว่า ในปี 2552 จะมีปริมาณน้ำมากจากการสะสมของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลในปีนี้ คือ หากปริมาณน้ำมากโดยที่ลมมรสุมของมหาสมุทรอินเดียอ่อนกำลังลง จะทำให้เกิดน้ำท่วมคนละแบบ โดยน้ำท่วมปีนี้จะมีสาเหตุมาจากพายุ ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะฝนจากพายุแม้จะกินอาณาบริเวณแคบ แต่มีความรุนแรงสูง ขณะที่ฝนจากร่องความกดอากาศต่ำแม้จะกินอาณาบริเวณกว้างแต่ไม่รุนแรง ดังนั้น ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีบทเรียนจากน้ำท่วมที่ จ.อุตรดิตถ์ เมื่อปี 2549

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า เมื่อน้ำเยอะก็ควรมีการเตรียมพร่องน้ำ หรือระบายน้ำออก ขณะเดียวกัน เมื่อระบายน้ำเสร็จก็ควรเก็บกักน้ำเพื่อใช้ยามแล้ง พระองค์ทรงรับสั่งว่า ทรงห่วงสถานการณ์น้ำที่ จ.จันทบุรี และระยอง โดยเฉพาะช่วงฝนตกมากๆ เห็นได้ที่ จ.จันทบุรี มีถนนขวางทางน้ำ ทำให้โอกาสน้ำท่วมสูง ทรงแนะให้มีการจัดการถนนที่ขวางทางน้ำ มีการระบาย โดยให้เกิดความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานและกรมทางหลวงให้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ พระองค์ทรงโปรดการดำเนินการของสถาบัน โดยเฉพาะการติดตั้งโทรมาตร หรือเครื่องตรวจสภาพอากาศอัตโนมัติ ซึ่งทางสถาบันได้ติดตั้งไว้ 1 เครื่อง ที่บริเวณวังไกลกังวล เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทรงรับสั่งว่า เป็นเครื่องมือที่ดี สามารถทราบข้อมูลสภาพอากาศได้ทุกพื้นที่ พระองค์ทรงคอยติดตามข้อมูลจากโทรมาตรอยู่เสมอ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยเช็คข้อมูลให้ตลอดเวลา ผู้อำนวยการสถาบันกล่าว

นายรอยลกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งเรื่องโทรมาตรสำหรับการเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะปีนี้เมื่อน้ำมาก สถาบันควรเตรียมพร้อมข้อมูล รวมทั้งต้องมีการขยายการติดตั้งโทรมาตรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันติดตั้งแล้ว 600 สถานี แต่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ความใหม่และทันสมัยของเทคโนโลยีอาจล้าหลัง สถาบันจะปรับปรุงเบื้องต้น 150 สถานี จาก 600 สถานี เพื่อให้ข้อมูลมีเสถียรภาพ รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ด้านคุณหญิงกัลยากล่าวว่า ได้ประสานกับสถาบันให้เร่งปรับปรุงเครื่องโทรมาตรที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยจะเร่งจัดสรรงบประมาณ 10 ล้านบาทมาให้ดำเนินการทันที เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook