นายกขอสวดมนต์ถวายในหลวงยันประชามติยึดเท่าเทียม

นายกขอสวดมนต์ถวายในหลวงยันประชามติยึดเท่าเทียม

นายกขอสวดมนต์ถวายในหลวงยันประชามติยึดเท่าเทียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี ชวนคนไทยสวดมนต์ถวายในหลวง - เร่งผลักดัน สิทธิคนพิการสร้างความเท่าเทียม มุ่งพัฒนาสาธารณสุข ยึดกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชู แผน 3 ระยะ 13 ปี ปั้นอู่ตะเภา ยึดมาตรฐาน ICAO

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมสวดมนต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี พร้อมชื่นชม ด.ช.ประทีป ช่วงชู นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม ที่เดินฝ่าสายฝนเก็บธงชาติ ที่ปลิวลมมาตกอยู่กลางถนนอีกด้วย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดันมาตรการต่างๆ และปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ คือการเข้าถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การลงประชามติก็มีวิธีการพิเศษเฉพาะสำหรับคนพิการ ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน ที่กำหนดงานด้านสาธารณสุข การอนามัย และการควบคุมโรค บรรจุไว้ในกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมและรอบด้าน ตั้งแต่การแก้ปัญหาจากต้นเหตุ กลางทาง และปลายทาง ที่มีการบังคับใช้กฎหมายและการสร้างจิตสำนึกในสังคมด้วย

 

นายกฯเผยรัฐบาล-เอกชนร่วมพัฒนาการศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืนหรือ Con-Next-E-D เป็นการขับเคลื่อนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ผ่านข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐ – เอกชน หรือที่เรียกว่า "คณะทำงานประชารัฐ" ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติ ด้วยการสนับสนุนการศึกษาในทุกมิติ 

สำหรับหลักการที่สำคัญในการทำงานร่วมกัน ก็คือ การน้อมนำยุทธศาสตร์พัฒนาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาเป็นแนวทางดำเนินการ โดยภาคเอกชน มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนหลักในการให้คำปรึกษา งบประมาณ และบุคลากรในองค์กร ที่สมัครใจเป็นผู้นำรุ่นใหม่ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเป้าหมายของโครงการระยะแรกภายในปีนี้ 3,342 โรงเรียน และระยะต่อมาภายใน 3 ปี จะขยายให้ครบ 7,424 โรงเรียนทั่วประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 10 ด้าน อาทิ การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลและการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตของสถานศึกษา, การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง และในอนาคตจะยกระดับสถานศึกษาของไทยให้เป็น "ศูนย์กลางการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต"

 

นายกฯชูแผน3ระยะ13ปีปั้นอู่ตะเภา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา มีศักยภาพในการพัฒนาเป็น "ศูนย์อุตสาหกรรมอากาศยาน" ครบวงจร ประกอบไปด้วย 1.กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน 3.ยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงาน มี 3 ระยะ 13 ปี ประกอบไปด้วย การพัฒนาโรงซ่อมอากาศยาน โรงงาน โรงซ่อมเครื่องยนต์ และการเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2561 และ 5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 เป็นต้น พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น ICAO ด้วย

นอกจากนั้น สิ่งที่จะดำเนินการคู่ขนานกันไป คือ การพัฒนาระบบรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางถึงสูง ให้รองรับการสัญจรของประชาชน นักท่องเที่ยว และสินค้าในอนาคตด้วย รวมถึง แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่าทำยังไงจะเชื่อมโยงทั้ง 3 สนามบินได้


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook