กัลยาณมิตร เป็นสำคัญ

กัลยาณมิตร เป็นสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เลาะเลียบคลองผดุงฯ

มีผลประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ สมศ. รอบที่สอง ระยะครึ่งวงจร (พ.ศ.2549-2553) 22,456 แห่ง ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับรู้อย่างเป็นทางการว่า

สถานศึกษาไทยในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 22,456 แห่งดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยในระดับพอใช้ ที่ได้รับรอง ร้อยละ 79.68 และไม่รับการรับรอง ร้อยละ 20.32 ในจำนวนทั้งหมดนี้แบ่งโรงเรียนออกเป็น

โรงเรียนคุณภาพดีหนึ่งประเภทหนึ่ง 4,306 แห่ง คุณภาพดี 5,298 แห่ง และคุณภาพพอใช้ 8,288 แห่ง ที่เหลืออีก 4,524 แห่ง ล้วนเป็นโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานขั้นต่ำ คิดเห็นร้อยละ 20.32

ไม่ต้องบอกก็คาดเดาได้ว่า โรงเรียนคุณภาพดีหนึ่งประเภทหนึ่งนั้น เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ และลดหลั่นลงมาส่วนโรงเรียนที่ยังไม่รับรองมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดเล็ก-ขนาดจิ๋วที่ตั้งอยู่นอกเมือง

ยิ่งโรงเรียนที่อยู่ชายขอบ ขนาดเล็ก-ขนาดจิ๋ว บนเขา บนดอย มีข้อจำกัดทั้งเรื่องการเดินทางของนักเรียน ครู ผู้บริหาร มีครูไม่ครบชั้น ขาดอุปกรณ์การเรียนการสอน อยู่ท่ามกลางความขัดสน ทนลำบาก เขตพื้นที่ไม่เคยเยี่ยมกราย คงไม่ต้องพูดถึงมาตรฐานให้เคืองใจกันเปล่าๆ

แค่ฟังน้ำเสียงที่ครูบนดอยระบายให้ฟังแล้วสงสารจับใจแล้วกับท้ายประโยค ศุกร์สวรรค์ จันทร์นรก ย่อมสะท้อนอะไรได้มากมาย

พอมาฟังเสียงจากครูพื้นที่ราบทั่วไปที่กล่าวถึง สมศ.ชนิดกลั่นมาจากหัวใจมากองแล้ว ไม่อยากเก็บไว้คนเดียวที่ว่า ทุกวันนี้ผู้บริหารและครูไม่มีเวลาอย่างอื่น เพราะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไว้ให้สมศ.

โดยเฉพาะโรงเรียนที่ถึงคิวจะต้องเข้าแถวประเมิน ยิ่งไม่เป็นอันกินอันนอน ครูบางคนต้องทะเลาะเนื่องจากไม่มีเวลาให้กับครอบครัว คิดหรือว่าโรงเรียนที่ผ่านการประเมินแล้วจะดีขึ้นหรือเป็นแค่ผักชี ช่วงนั้น

สมศ.ควรย้อนมองตนเองและยอมรับความจริงในข้อวิพากษ์ที่ว่า เกณฑ์การประเมินไม่เหมาะสม ไม่อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ไม่สนใจบริบทของสถานศึกษา รายงานข้อมูลผิดพลาด ข้อเสนอแนะไม่สอดคล้องกับผลการประเมินและไม่เป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะผู้ไปประเมินขาดความเป็นกัลยาณมิตร เป็นสำคัญที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook