จ้างชาวนาเลิกทำนา..? ปัญหาของการสื่อสาร !!

จ้างชาวนาเลิกทำนา..? ปัญหาของการสื่อสาร !!

จ้างชาวนาเลิกทำนา..? ปัญหาของการสื่อสาร !!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นประเด็นร้อนของสังคมขึ้นมาไม่น้อย เมื่อมีกระแสข่าวว่า กระทรวงเกษตรกำลังของบประมาณจำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อจ้างให้ชาวนางดทำนาหรือเลิกทำนา...!! เรื่องนี้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่ารัฐบาลไม่สนับสนุนอาชีพเก่าแก่พื้นฐานของประเทศบ้าง ไม่ให้ชาวนาทำนาแล้วจะให้เขาทำอาชีพอะไร ไม่ให้ทำนาจะให้ไปเป็นลูกจ้างแรงงานหรือไรบ้าง...

ยิ่งบรรดากลุ่มคนที่ไม่ชอบหรือคนละขั้วกับรัฐบาล คสช.ด้วยแล้ว การถูกนำไปขยายเพื่อสร้างความเข้าใจผิด สร้างกระแสเพื่อหวังผลทำลายความเชื่อถือการบริหารงานของรัฐบาลเข้าไปใหญ่

การเลิกจ้างทำนา...แท้จริง คืออะไรกันแน่ ?

มีแนวคิดที่ทำกันมาหลายรัฐบาล ภายใต้แนวคิดการปฏิรูปพื้นที่การเพาะปลูกทางการเกษตร โดยมีการศึกษาของกรมวิชาการการเกษตรพบว่า ปัญหาของราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนการผลิตที่ไม่ดี มีการปลูกพืชเกษตรบางอย่างล้นเกินความต้องการของตลาดจำนวนมาก หรือมีผลผลิตล้นตลาดทำให้ราคาสินค้าตกต่ำมากในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกัน

ดังนั้นแนวทางหนึ่งเพื่อเป็นการวางแผนระยะยาว จำเป็นต้องมีการแบ่งพื้นที่ออกมาให้เหมาะสม อย่างเช่น มีการคำนวณกันว่า ปริมาณข้าวในแต่ละปีควรจะมีจำนวนกี่ล้านตันจึงจะเพียงพอกับการบริโภคในประเทศ มีคงเหลือไว้สำหรับภาวะฉุกเฉินเท่าไร และเหลือส่งออกเท่าไรจึงจะเหมาะสม และชนิดของข้าวที่เหมาะแก่การส่งเสริมในการเพาะปลูกเพื่อการส่งออกคือข้าวอะไร จำนวนเท่าไรในแต่ละปี จึงจะเหมาะสมไม่ล้นตลาดจนกดราคาให้ตกต่ำลง

เช่นเดียวกับพืชเกษตรอื่นๆ ที่ผ่านมา บางปีเราประสบปัญหาจากผลผลิตที่ล้นเกินจากการที่มีการปลูกกันโดยไม่มีการวางแผนในภาพรวม จนกดราคาต่ำเกิน ทำให้เกษตรกรขาดทุน ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงพยุงราคา ต้องใช้งบประมาณเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหารายะสั้น และเสียงบประมาณโดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาว

แนวคิดการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร โดยการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม กับพืชเกษตรแต่ละชนิดเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด สามารถคุมปริมาณผลผลิตไม่ให้ล้นเกิน และ การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมยังแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและคุ้มค่า ได้อีกด้วย เพราะพืชเกษตรแต่ละชนิดต้องการพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมือนกัน ต้องการปริมาณน้ำซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเกษตรไม่เหมือนกัน หากสามารถกำหนดพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมจะช่วยในเรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

เรื่องการปรับโครงสร้างการผลิตของภาคเกษตร หรือการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกการเกษตร มีแนวคิดมีการจัดทำแผนแม่บทมานาน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้ การปรับเปลี่ยนวิถีดั่งเดิมของเกษตรกรไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องให้ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกพืชชนิดใหม่ ต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่แตกต่างไปจากเดิม แนวคิดการจัดงบประมาณเพื่อมาสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเกษตรก็เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆปัจจัย ซึ่งไม่ใช่ อยู่ๆเอาเงินมาจ้างให้ชาวนาเลิกทำนาไปเฉยๆ

การปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกอย่างเป็นระบบเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องอธิบาย ต้องสื่อสารให้กระจ่าง หากมองข้ามคิดง่ายเกินไปในการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และ ถูกนำไปขยายในทางผิดจากคนที่ไม่เข้าใจและคนที่ไม่หวังดีได้ง่าย การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงจึงจำเป็นยิ่ง.......

โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook