อุดมไม่กังวลกลุ่มการเมืองแสดงออกไม่รับร่างรธน.
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/407/2038222/716915-01.jpgอุดมไม่กังวลกลุ่มการเมืองแสดงออกไม่รับร่างรธน.

    อุดมไม่กังวลกลุ่มการเมืองแสดงออกไม่รับร่างรธน.

    2016-07-28T14:43:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่กังวลกลุ่มการเมือง ไม่รับร่าง รธน. ยันรัฐธรรมนูญ มีกลไกการป้องกันการทุจริตอย่างชัดเจน ยันร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ แก้ปัญหาในอดีตชัดเจน

    นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชี้แจงภายหลังที่มีกลุ่มการเมือง ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ทาง กรธ. ไม่ได้กังวล เนื่องจากการแสดงความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่จะกังวลที่ประชาชนได้รับข้อมูลที่บิดเบือน อาทิ การตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องการศึกษา หลักประกันสุขภาพ ส่วนความเห็นที่มองร่างดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพในการปราบโกงนั้น กรธ. ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญมีกลไกการป้องกันการทุจริตอย่างชัดเจน ทั้งการกำหนดคุณสมบัติของนักการเมือง และมีการวางมาตรการสำหรับผู้ที่ทุจริตอย่างเข้มงวด ซึ่งทุกขั้นตอนเป็นการตอบโจทย์ประชาชนแน่นอน ส่วนการเพิ่มช่องทางคดีให้นักการเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ให้ชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการให้โอกาสแก้ต่างและเป็นไปตามหลักสากลและหลักสิทธิมนุษยชน

    สำหรับกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศและการปรองดอง ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ชัดเจน มีกลไกการตรวจสอบ โดยให้วุฒิสภากำกับเรื่องการปฏิรูป ดังนั้นการที่วุฒิสภาในช่วง 5 ปีแรก จะเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช. ตามที่หลายฝ่ายวิจารณ์ เห็นว่าเป็นเพียงการจินตนาการ เนื่องจากรัฐสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถึง 500 คน ที่มาจากประชาชน ดังนั้นการตัดสินใจทุกอย่างจึงถือว่าเป็นการตัดสินใจภายใต้ประชาชน

    ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามตินายกรัฐมนตรีจะอยู่ในอำนาจต่อนั้น นายอุดม ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่ กรธ. ต้องสื่อสารว่าการเลือกตั้ง ต้องมีในปี 2560 ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติหรือไม่ ดังนั้นการออกมาพูดว่า นายกรัฐมนตรี จะอยู่ต่อ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าผลประชามติจะเป็นอย่างไร กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยินดีน้อมรับ และไม่รู้สึกน้อยใจที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการวันที่ 7 สิงหาคม