วัตถุต้องสงสัย ดูไม่ยาก หากมีทริค! เผยคำแนะนำจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด

วัตถุต้องสงสัย ดูไม่ยาก หากมีทริค! เผยคำแนะนำจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด

วัตถุต้องสงสัย ดูไม่ยาก หากมีทริค! เผยคำแนะนำจากหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพบวัตถุบางอย่างที่ดูผิดหูผิดตา แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นวัตถุต้องสงสัยหรือไม่ หน่วยเก็บกู้ระเบิด (อีโอดี) แนะนำหลักการ 4 ข้อ เป็นสังเกตสำหรับวัตถุต้องสงสัย ดังนี้

  1. ไม่เคยเห็น: ตัวอย่างเช่น ที่ตู้เอทีเอ็ม พบถังดับเพลิง วางอยู่ข้างตู้ ซึ่งปกติแล้ว บริเวณดังกล่าวจะไม่เคยมีถังดับเพลิงลักษณะดังกล่าววางอยู่
  2. ไม่เป็นของใคร: เมื่อสอบถามประชาชนหรือคนในละแวกนั้นแล้ว ไม่พบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นของผู้ใด ไม่มีผู้ใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ
  3. ไม่ใช่ที่อยู่: วัตถุนั้น ไม่ควรที่จะอยู่ ณ สถานที่ตรงนั้น
  4. ดูไม่เรียบร้อย: วัตถุสิ่งนั้นมีสภาพที่ไม่เรียบร้อย ผิดปกติ เช่น มีสายไฟโผล่ มีน้ำมันเยิ้ม มีกลิ่นน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบนซิน เป็นต้น

การเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับป้องกันวัตถุระเบิด ที่ควรจัดหาไว้ คือ

  • ยางนอกรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้ว ประมาณ 5-6 เส้น เลือกเอาขนาดที่มีน้ำหนักพอสมควร
  • กระสอบทราย ตั้งแต่ 10-20 ลูก ยิ่งมากยิ่งดี
  • กรวยยาง,เชือกสำหรับกั้นป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปรบกวนในกรณีพบวัตถุระเบิด
  • ป้ายเตือนอันตรายที่ขนาดเห็นได้ชัดเจน
  • น้ำยาดับเพลิง และอุปกรณ์สำหรับดับเพลิง
  • เตรียมการประสานราชการกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
  • หน่วยพยาบาล
  • หน่วยไฟฟ้า
  • หน่วยกู้วัตถุระเบิดของ ตร. และตำรวจท้องที่
  • เส้นทางและวิธีการรายงานผู้บังคับบัญชาตามสายงาน

การปฏิบัติเมื่อพบวัตถุต้องสงสัยซึ่งเชื่อว่าเป็นวัตถุระเบิด

  1. ปิดกั้นบริเวณที่พบวัตถุต้องสงสัย โดยนำกรวยยาง หรือเชือกกั้นล้อมรอบบริเวณที่พบวัตถุ ต้องสงสัย (เชือกกั้นรัศมีประมาณ ๕-๑๐ เมตร) กำหนดทางเข้าออกเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบให้ชัดเจน
  2. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำยางรถยนต์ประมาณ ๕ เส้น ครอบวัตถุต้องสงสัยไว้ หรือนำกระสอบทรายล้อมรอบวัตถุต้องสงสัยไว้ แล้วแต่ความเหมาะสม โดยให้วัตถุต้องสงสัยอยู่ตรงกลาง โดยห้ามจับต้อง หยิบยก เคลื่อนย้าย ทำให้สั่นสะเทือน เคลื่อนไหว หรือสัมผัสกับวัตถุต้องสงสัยโดยเด็ดขาด
  3. กันคน ให้กันคนให้ห่างจากจุดที่พบวัตถุต้องสงสัย ระยะห่างประมาณจากขนาดของวัตถุต้องสงสัย ซึ่งปกติทั่วไป ถ้าเป็นขนาดเล็ก ให้กันคนให้ห่างประมาณ ๑๐๐ เมตร ถ้าขนาดใหญ่ ให้ห่างประมาณ ๔๐๐ เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่จะอำนวย
  4. รีบโทรศัพท์แจ้ง กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด โทร. 02-2761946 โดยให้ร้อยเวร อยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อแจ้งรายละเอียดให้กับเจ้าหน้าที่ EOD ทราบ โดยให้เตรียมข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานที่พบวัตถุระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัย เลขที่ ตำบล ถนน อำเภอ จังหวัด ขนาด รูปร่าง สี น้ำหนักโดยประมาณ มูลเหตุที่เชื่อว่าเป็นวัตถุระเบิด ใครเป็นผู้พบ พบเมื่อใด ใครเห็นบ้าง ที่ตัววัตถุระเบิด มีอุปกรณ์อะไรประกอบที่เห็นได้ เช่น สายไฟ นาฬิกา หรืออื่น ๆ

อานุภาพของระเบิดแสวงเครื่อง (ระเบิดขนาด 1 ปอนด์)
ระยะ 1 เมตร เสียชีวิต
ระยะ 5 เมตร สาหัส
ระยะ 8 เมตร ทำลายประสาทหู
ระยะ 16 เมตร อาคารเสียหาย
ระยะ 40 เมตร กระจกแตก

ถ้าระเบิดมีขนาดใหญ่กี่เท่าของข้างต้น อานุภาพ รัศมีการทำลายล้างก็จะเพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น เช่น ระเบิด 3 ปอนด์ ระยะ 3 เมตร ทำให้เสียชีวิต 15 เมตร สาหัส 24 เมตร ทำลายประสาทหู เป็นต้น

ข้อสังเกตเกี่ยวกับระเบิดทางพัสดุไปรษณีย์ (หีบ, ห่อ)

  1. มีน้ำหนักมากเกินขนาด
  2. ซองมีลักษณะแข็ง พับงอไม่ได้
  3. ห่อพัสดุ หรือซองจดหมายมีลักษณะโป่งบวม หรือพอง ผิดปกติ
  4. ลักษณะการห่อแน่นหนาเกินควร มีเทปพันมากเกินควร
  5. อาจมีสายไฟยื่นออกมา
  6. ไม่มีชื่อ ที่อยู่ ของผู้ส่ง หรือมีแต่ไม่เคยรู้จัก
  7. มีคราบน้ำมัน หรือสีซีดจางที่ห่อกระดาษ
  8. อาจมีการเขียนข้อความ หรือติดภาพที่เรียกร้องความสนใจ
  9. เป็นจดหมายที่ไม่ได้คาดว่าจะได้รับ
  10. มีการติดแสตมป์มากเกินขนาด (โดยเฉพาะส่งภายในประเทศ)
  11. มีการทำเครื่องหมายพิเศษต่างๆ เช่น ส่วนตัว, เฉพาะบุคคล
  12. ลายมือเขียน หรือพิมพ์ที่ไม่เป็นระเบียบ
  13. ไม่มีชื่อผู้รับ
  14. มีชื่อ แต่ระบุตำแหน่ง หรือยศ ไม่ถูกต้อง
  15. สะกดคำผิดในคำง่าย ๆ

หากมีข้อสงสัยในการปฏิบัติ สามารถติดต่อสอบถาม กลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (เจ้าหน้าที่ EOD) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 080-6552525

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook