ครม.รับทราบเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อระเบิด7จว.ใต้

ครม.รับทราบเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อระเบิด7จว.ใต้

ครม.รับทราบเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อระเบิด7จว.ใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ประชุม ครม. รับทราบเยียวยาช่วยเหลือ ปชช. เหยื่อระเบิด 7 จว.ใต้ รายละ 1,185,000 บาท เห็นชอบกำหนดมาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นราชการ ให้ยึดตาม ป.ป.ช. - ป.ป.ท. ชี้มูลความผิด

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบกรณีการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ โดยมีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บ 11 คน ได้แก่ ชาวฮอลแลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย และอิตาลี โดยกลับบ้านไปแล้ว 10 คน เหลือชาวฮอลแลนด์ 1 คน ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งรัฐจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับทุกคน เหตุในจังหวัดภาคใต้ ยังทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 1,185,000 บาท ส่วนชาวไทย 26 คน ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลก็ดูแลตามเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยยึดถือตามเกณฑ์ช่วยเหลือจากกรณีเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ซึ่งมากกว่าตามปกติ 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี อยากให้ช่วยเหลือจ่ายให้ครบในครั้งเดียวเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยงบประมาณที่ดูแลรักษาพยาบาลครั้งนี้ เป็นงบประมาณที่เหลือจากการช่วยเหลือกรณีราชประสงค์ ไม่ได้ของบประมาณมาใหม่


ครม.เห็นชอบกำหนดมาตรฐานการเอาผิดทางวินัย ขรก.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดมาตรฐานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นราชการ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาว่า ข้าราชการพลเรือนหลายประเภททำผิดตั้งแต่สมัยที่ยังรับราชการ แต่เมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการแล้ว เมื่อตรวจสอบพบความผิด แต่กลับไม่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งได้มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ รวมถึงพระราชบัญญัติระเบียบพลเรือน พ.ศ.2551 และกฎหมายของหน่วยราชการต้นสังกัด แต่กฎหมายเหล่านี้ มีช่องว่างที่ไม่สามารถกล่าวโทษได้ ดังนั้น หลังจากนี้ ได้มีการกำหนดให้ใช้มาตรฐานเดียวกัน ได้แก่ หลักเกณฑ์แรก คือ หากการกระทำความผิดเกิดขึ้นในขณะรับราชการ แล้วมีคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ให้ลงโทษตามที่ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. ชี้มูล โดยจะไม่นำเอากฎหมายที่ข้าราชการสังกัดมาใช้ ส่วนหลักเกณฑ์ที่สอง หากหน่วยงานต้นสังกัดตรวจพบการกระทำความผิดในสมัยที่ยังรับราชการอยู่ จะต้องสอบสวนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นราชการไป

นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการสั่งลงโทษผู้ที่กระทำผิดนั้น ต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่พ้นราชการไป โดยมีข้อยกเว้นว่า หากมีการร้องศาลปกครอง แล้วพบว่ามีความผิดกรณีอื่น ๆ เกิดขึ้นจริง ที่ไม่ใช่ความผิดเดิม แม้ว่าจะครบ 3 ปี ไปแล้ว ก็สามารถลงโทษได้อีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งหมายความว่า ข้าราชการที่จะทิ้งทวนทำความผิดก่อนเกษียณอายุราชการ ก็จะต้องมีการตรวจสอบ


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook