วิษณุยันแก้รธน.ชั่วคราวเพิ่มสนช.ไม่สืบอำนาจ

วิษณุยันแก้รธน.ชั่วคราวเพิ่มสนช.ไม่สืบอำนาจ

วิษณุยันแก้รธน.ชั่วคราวเพิ่มสนช.ไม่สืบอำนาจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'รองนายกฯวิษณุ' ยัน แก้ รธน. ชั่วคราว เพิ่ม สนช. รองรับพิจารณากฎหมาย ไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ ยัน ไม่เคยคุย ให้ ส.ว. เสนอชื่อนายกฯ คนนอก ชี้ เป็นเรื่องของ กรธ. ตัดสินใจ และการตีความของ ศาล รธน.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 30 คน จากเดิมไม่เกิน 220 คน เป็นไม่เกิน 250 คน เพื่อต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยในการพิจารณากฎหมายสำคัญที่มีกว่า 100 ฉบับ ซึ่งรวมไปถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ที่จะต้องเร่งพิจารณา ซึ่งทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้ง ซึ่งเชื่อว่า ข้าราชการทหารเข้ามาทำหน้าที่ สนช. จะไม่กระทบต่อการทำงาน และไม่เป็นการสืบทอดอำนาจ

ส่วนการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ของ สนช. ในวันศุกร์นี้ จะพิจารณา 3 วาระ ภายในวันเดียวหรือไม่ จะต้องดูอีกครั้ง ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน

นอกจากนี้ นายวิษณุ ได้ชี้แจงถึงคำพ่วงประชามติ ว่า จะดูที่เจตนารมณ์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แต่ที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีการคุยกันถึงเรื่องการให้ ส.ว. เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ เพราะฉะนั้นจึงให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้พิจารณา และที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งนี้ การที่จะได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาในครั้งแรกนั้น จะต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) เกินกึ่งหนึ่ง หากยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะต้องมีการขอความเห็นจากรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบว่าจะให้มีการเสนอนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดก่อน จึงจะสามารถเสนอรายชื่อและขอความเห็นชอบได้ โดยผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากแม่น้ำ 4 สาย ซึ่งประกอบด้วย รัฐบาล คสช. สนช. และ สปท. ต้องการที่จะสมัครเป็น ส.ส. จะต้องลาออกจากตำแหน่งก่อนเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 หรือ 90 วัน ภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ผู้ที่จะเป็น ส.ว. สรรหา ไม่จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่ง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook