กรมชลฯศึกษานำเชื้อราฉีดยับยั้งผักตบ

กรมชลฯศึกษานำเชื้อราฉีดยับยั้งผักตบ

กรมชลฯศึกษานำเชื้อราฉีดยับยั้งผักตบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมชลประทาน ติดตามกำจัดวัชพืชตามนโยบายรัฐ คาดกำจัดหมดในเดือน ก.ย. ส่วนลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ส.ค. พร้อมศึกษานำเชื้อราฉีดยับยั้งผักตบ เชื่อน้ำพอใช้หลังฝนตกหนุนปริมาณเขื่อน

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และโฆษกกรมชลประทาน กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อติดตามการเร่งรัดกำจัดวัชพืชตามนโยบายภาครัฐว่า ในพื้นที่บริเวณแม่น้ำแม่กรอง ตลอดระยะทาง 1.5 กิโลเมตร มีผักตบชวาขีดขวางทางระบายน้ำประมาณ 15,000 ตัน จึงได้ร่วมมือกับมณฑลทหารบกที่ 16 และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น จัดรถขุดตัก 2 คัน เรือกำจัดวัชพืชรวม 4 ลำ เพื่อกำจัดผักตบชวา มากองไว้ที่จุดเหมาะสม ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา และคาดว่าแล้วเสร็จภายในวันพรุ่งนี้ จากนั้นจะประสานกับกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำผักตบชวาทั้งหมด ไปทำเป็นปุ๋ยหมักแจกจ่ายให้กับเกษตรกรต่อไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกมะนาวและส้มโอ ส่วนภาพรวมการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ที่กรมชลประทานควบคุมดูแลกว่า 35,000 กิโลเมตร คาดว่ากำจัดได้ทั้งหมดภายในเดือนกันยายน นี้ ขณะที่พื้นที่ในลุ่มแม่น้ำแม่กรอง จะกำจัดได้แล้วเสร็จภายในเดือนนี้ เนื่องจากในเดือนกันยายน - ตุลาคม จะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกในพื้นที่ภาคกลาง จึงต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อป้องกันการขีดขวางทางระบายน้ำ

พร้อมกันนี้ นายทองเปลว เปิดเผยว่า มาตรการระยะยาวในการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ที่กรมชลประทาน ควบคุมดูแลนั้น ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยการนำเชื้อรายับยั้งการเติบโตของผักตบชวา ซึ่งในเบื้องต้นผลการทดลองฉีดเชื้อราเข้าผักตบชวา พบว่าสามารถยับยั้งการเติบโตได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้จะต้องมีการทดสอบถึงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำหรือไม่ ทั้ง

เรื่องของความเป็นกรด เป็นด่าง ความเค็ม ความขุ่นของน้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตในน้ำ ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการทดสอบศึกษาวิจัยซ้ำอีกหลายครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้น กรมชลประทาน จะนำร่องหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการใช้ควบคู่ไปกับการกำชับให้หน่วยงานในพื้นที่กำจัดผักตบชวาตามกำหนด โดยเฉพาะพื้นที่เชื่อมต่อกับคลอง และทางระบายน้ำทั่วประเทศ ทั้งนี้ นายทองเปลว กล่าวว่า งบประมาณของกรมชลประทานที่ได้รับจัดสรรในการควบคุมกำจัดวัชพืช เพื่อขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปีตามพื้นที่ ที่กรมชลประทานรับผิดชอบขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ นายทองเปลว ยังเปิดเผยว่า ปริมาณฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้ส่งผลดีต่อภาครวมสถานการณ์น้ำในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จากเดินอยู่ที่ 10 - 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และเขื่อนสิริกิติ์ที่ได้รับอานิสงส์จากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะพื้นที่ จ.น่าน ทำให้ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยสูงถึง 175 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งทำให้ภาพรวมปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นแหล่งน้ำครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีน้ำใช้อยู่ที่ 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่อยู่ที่ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่จะเริ่มต้นเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งจะมีปริมาณน้ำรวมสูงกว่า 8,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมั่นใจว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชน ไปจนถึงช่วงหน้าแล้งที่จะมาถึง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook