โดนถล่มยับ อาจารย์ม.ดัง แจงเหตุชูนิ้วกลางประท้วง

โดนถล่มยับ อาจารย์ม.ดัง แจงเหตุชูนิ้วกลางประท้วง

โดนถล่มยับ อาจารย์ม.ดัง แจงเหตุชูนิ้วกลางประท้วง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยชื่อดัง เซลฟี่ภาพหมู่กับกลุ่มนักศึกษา โดยชูสัญลักษณ์นิ้วกลางพร้อมกัน พร้อมข้อความว่า “เด็กๆ กับผมฝากของให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนิดนึงนะครับ ช่วยกรุณาซ่อมแอร์ที่ SC ด้วย หรือไม่ก็เปลี่ยนห้องให้ด้วยครับ ค่าเทอมเก็บครบ เงินเดือนผมเท่าเดิม สอนและเรียน 3 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 34 องศา คนเป็นร้อย ไม่สนุกนะครับ” โดยโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม 

(29 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิโรจน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้โพสต์ภาพดังกล่าว ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายสาเหตุของการ 'ประท้วงด้วยการชูนิ้ว' ดังนี้

1. ภาพนั้น เป็นภาพการประท้วงเรื่องเครื่องปรับอากาศในห้องบรรยาย 4031 ณ ตึงบรรยายรวมสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย... ศูนย์รังสิต ที่เรียกติดปากกันว่าตึก SC เสีย (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ SC Asset แต่อย่างใด)

2. ผมบรรยายในตึกนั้นครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2555 ในวิชา ร. 271 และ บรรยายต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากเป็นห้องบรรยายขนาดใหญ่ที่มีนักศึกษาเฉียด 100 คน และมีปัญหาเรื่องเครื่องปรับอากาศมาโดยตลอด

3. ไม่ใช่ว่าผมอยู่ดีๆ เพิ่งมาโพสต์แสดงความไม่พอใจ หลังจากต้องทนร้อนมาแค่ 2 สัปดาห์ แต่ตึกดังกล่าวมีปัญหาเรื่องเครื่องปรับอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ระยะเวลา 5 ปีที่ผมต้องใช้ห้องบรรยายในตึกเจ้าปัญหามาโดยตลอด 

ผมได้แจ้งไปทางบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่แม่บ้าน เจ้าหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาโดยตรง รวมไปถึงรองอธิการบดีหลายท่าน ทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบ แต่ตลอดเวลาหลายปี คำตอบที่ได้คือ อดทนหน่อย กำลังดำเนินการ ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรง บลาๆๆ แสดงว่าทางผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงปัญหาแต่ก็ไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ถ้าไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ไข

4. ตั้งแต่เข้าบรรยายครั้งแรกในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ผมได้ลงภาพพัดลมตั้งพื้น 2 ตัว ในห้องบรรยาย และโพสต์ว่าจะไม่บรรยายจนกว่าเครื่องปรับอากาศจะซ่อมเสร็จ หรือทางมหาวิทยาลัยจะย้ายห้องบรรยายให้ แต่พอมาถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2559 เครื่องปรับอากาศก็ไม่ได้รับการซ่อมแต่อย่างใด แถมมาด้วยเครื่องขยายเสียงมีปัญหา 

อย่างไรก็ดี เมื่อนักศึกษามาเรียนกันเต็มห้อง ผมก็ต้องบรรยายโดยการไปยืนกลางห้องและตะโกนสอนตลอด 3 ชั่วโมง ในอุณหภูมิกว่า 34 องศา ในห้องที่เปิดหน้าต่างไม่ได้ และพัดลมก็เหลือแต่ 1 ตัว เพราะต้องแบ่งไปห้องข้างๆ ใช้

5. มีคนที่อ้างว่าเป็นศิษย์เก่า ผู้บริหาร เพื่อนคณาจารย์ ได้ส่งข้อความมาติเตียนเรื่องการโพสต์ภาพดังกล่าว ผมเข้าใจดีว่าพวกท่านเหล่านั้น เป็นห่วงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย แต่ผมอยากให้ท่านพึงทราบไว้ว่า 

ก่อนที่ท่านจะเป็นห่วงภาพลักษณ์ที่ว่า '...รักประชาชน' กรุณารักและให้ความสำคัญกับเสียงของผม ของคณาจารย์และของนักศึกษาอีกหลายร้อยหลายพันคน ที่ต้องใช้ตึกบรรยายรวมฯในการเรียนการสอนด้วย เพราะคือหน้าที่โดยตรงของท่าน

6. มีบางคนพูดติดตลกกับผมว่า 'อย่างน้อยเขาให้พัดลม 2 ตัวมาก็ดีแล้ว' ผมไม่สามารถรับตรรกะที่ว่าผมและนักศึกษาต้องรอการสังคมสงเคราะห์จากใคร และไม่ต้องการให้ทัศนคติแบบนี้ได้รับการส่งเสริมและลุกลามออกไปสู่สังคมในวงกว้าง

 เพราะเป็นการยอมจำนนต่อดุลพินิจของผู้ใช้อำนาจว่าควรได้หรือไม่ได้อะไร ทั้งๆที่เราเป็นคนจ่ายค่าเทอม ภาษีให้กับผู้คนเหล่านี้ให้มาบริหาร เราควรมีสิทธิมีเสียงในการเรียกร้องมาตรฐานที่เหมาะควร

7. ผมไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิจารณ์เรื่องการชี้นิ้วกลางเพียงอย่างเดียว อย่าลืมความจริงที่ว่า ทั้งหมดนี้เป็นการประท้วงเรื่องมาตรฐานเรื่องอุปกรณ์และห้องบรรยายด้วย ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำในฐานะมหาวิทยาลัยต้องดูแลให้กับนักศึกษา กรุณาอย่าบิดเบือนประเด็น

8. ผมลบโพสต์ออกจากหน้าวอลล์ ด้วยเหตุผลที่มีผู้บริหารรับปากกับผมว่าจะแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าจะด้วยการเร่งซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศให้เสร็จ หรือด้วยการย้ายห้องบรรยายให้ภายในสัปดาห์หน้า ผมโดนตำหนิ ผมไม่ว่า ในที่สุดปัญหาจะได้รับการแก้ไขสักที

9. สุดท้าย ผมขอเชิญบรรดาผู้ที่ไม่สบายใจและไม่พอใจกับวิธีการประท้วงของผม ไม่ว่าจะเป็น ศิษย์เก่า ผู้บริหาร คณาจารย์ บรรดาบุคคลผู้ชอบบริหารผ่านไลน์ ผ่านหน้าจอคอม ผมขอเชิญท่านเตรียมสอนมา 3 ชั่วโมง เพื่อบรรยาย 3 ชั่วโมง ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ เปิดหน้าต่างไม่ได้ เครื่องขยายเสียงเสีย ตะโกนบรรยาย 3 ชั่วโมง

ในขณะที่อุณหภูมิอยู่ที่ 34 องศา (และบรรยายต่ออีก 3 ชั่วโมงในช่วงบ่าย) นักศึกษานั่งพัดกันระงมแทนที่จะตั้งใจฟังหรือจดการบรรยาย สัก 1 ภาคการศึกษา หรือไม่ก็ส่งบุตรหลานของท่านมาเรียนในสภาพดังกล่าวสัก 4 ปี แล้วค่อยมาอภิปรายกันครับ ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ

ขอบคุณครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook