เจ้าพระยาน้ำสูงกระทบชาวโผงเผง-นากำแพงเพชรอ่วม

เจ้าพระยาน้ำสูงกระทบชาวโผงเผง-นากำแพงเพชรอ่วม

เจ้าพระยาน้ำสูงกระทบชาวโผงเผง-นากำแพงเพชรอ่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่น้ำเจ้าพระยาระดับน้ำสูงต่อเนื่อง กระทบชาวโผงเผง - กำแพงเพชรอ่วม นาข้าวเสียหายหลายไร่ โดย ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัย 14จังหวัดเร่งช่วยเหลือ

สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.อ่างทอง ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดที่บริเวณหน้าศาลกลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำอยู่ที่ 7.34 เมตร จากระดับตลิ่ง 9.32 เมตร อัตราการไหลผ่าน 1,909 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที ล่าสุดมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในเขต ต.โผงเผง อ.ป่าโมก เพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะน้ำเริ่มล้นทะลักเข้าท่วมชุมชน ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำก้านธูปจำหน่าย ซึ่งมีอยู่หลายหลังคาเรือน ต่างต้องเร่งผลิตและจัดส่งสินค้าเพื่อจำหน่าย เพราะมีปัญหาในเรื่องของที่เก็บของ 

ด้าน นางอำนวย ป้อมพยัคฆ์ อายุ 41 ปี ชาว ม.4 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก หนึ่งในชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำก้านธูปจำหน่าย กล่าวว่า ที่ผ่านมานั้นที่บ้านตนเอง น้ำไม่ท่วมมาแล้ว 2 ปีแล้ว แต่ในปีนี้กลับมีน้ำจำนวนมาก และมาเร็ว ล่าสุดพื้นบ้านเริ่มมีน้ำซึมเข้ามาที่พื้นใต้ถุน ตนและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนบ้านที่ประกอบอาชีพทำก้านธูป ต่างต้องเร่งขนย้ายและผลิต พร้อมกับส่งสินค้าให้กับโรงงานที่ทำธูป เนื่องจากหากล่าช้าจะประสบปัญหาสินค้าได้รับความเสียหาย 

ด้าน ต.วังไทร อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร หลังพื้นที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 เซนติเมตร นาข้าวจมน้ำเสียหายจำนวนมากโดยเฉพาะข้าวที่กำลังออกรวง บางแปลงน้ำลึกเลยระดับหน้าอก ทำให้เมล็ดข้าวเน่าเสียหายทั้งหมด เฉพาะที่หมู่ 2 น่าจะมากกว่า 1,000 ไร่


ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัย14จ.เร่งช่วยเหลือ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 14 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท เชียงราย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และสุราษฎร์ธานี รวม 30 อำเภอ 138 ตำบล 657 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนและริมฝั่งแม่น้ำ โดยนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังไปยังแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ประชาชน อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่เรือท้องแบนออกให้บริการอำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว 


ชป.12ยันไร้แผนปล่อยน้ำเพิ่มแต่ยังต้องจับตาฝน

นายฎรงศ์กร สมตน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 12 เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังคงรับมวลน้ำจากภาคเหนือที่ไหลบ่าลงมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ปริมาณน้ำดังกล่าวยังหลากมาในเกณฑ์ที่สามารถรองรับได้ ทำให้สำนักชลประทานที่ 12 ไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนแผนระดับการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เกินกว่า 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ไปอีกอย่างน้อย 7 วัน เนื่องจากมีการแจ้งเตือนว่าร่องมรสุมกำลังเคลื่อนตัวขึ้นไปยังภาคเหนือ ซึ่งล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างประเมินคำนวณค่ามวลน้ำว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเท่าใด


อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่ได้มีการผันน้ำระบายเข้าสู่ตัว จ.ชัยนาท เพื่อลดปริมาณน้ำซึ่งจะไหลไปยังบริเวณท้ายแม่น้ำเจ้าพระยา เบื้องต้นอาจส่งผลกระทบน้ำท่วมขังพื้นที่ทางการเกษตรบ้างบางส่วน เนื่องจากภาพรวมตัวจังหวัดมีฝนตกลงมาเสริมทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นด้วย


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook