ปชป.ติงปมใช้ม.44ยุบสภาหากลต.แล้วหานายกไม่ได้

ปชป.ติงปมใช้ม.44ยุบสภาหากลต.แล้วหานายกไม่ได้

ปชป.ติงปมใช้ม.44ยุบสภาหากลต.แล้วหานายกไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'ราเมศ' ติง 'วิษณุ' พูด ใช้ ม.44 ยุบสภา หากโหวตนายกฯไม่ได้ ไม่เหมาะสม ชี้ควรปล่อยไปตามกระบวนการ ปชต. หวัง กรธ.ยกร่าง กม.ลูกยึดตาม รธน.

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ทุกคนต้องเคารพดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อจากนี้ไปเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนจากการทำประชามติและจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นคนในบัญชีพรรคการเมือง หรือนอกบัญชีพรรคการเมือง มีความชัดเจนว่าสุดท้ายสมาชิกวุฒิสภา 250 คน จะเป็นผู้ร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี 

ส่วนกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่ได้ และใช้ระยะเวลานานกว่าที่เป็นก็สามารถใช้ มาตรา 44 ยุบสภา ได้นั้น เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้องและไม่สมควรพูด เมื่อมีกระบวนการเลือกตั้ง ก็มีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้กำหนดขั้นตอนไว้ ซึ่งการระบุว่า จะใช้มาตรา 44 ยุบสภานั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นคำขู่เพื่อให้ทิศทางประเทศเป็นไปตามที่รัฐบาลทหารกำหนดไว้ และไม่เป็นผลดีกับการเลือกตั้งในครั้งหน้า จึงอยากให้ นายวิษณุ มองถึงอนาคตประเทศที่จะส่งผ่านไปยังประชาธิปไตย แม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตยมากนัก แต่ขอให้เกียรติบุคคลที่มาจากการเลือกของประชาชน

พร้อมกันนี้ นายราเมศ กล่าวถึงการยกร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีการท้วงติงและเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขจากหลายภาคส่วน แต่ถึงขณะนี้ยังไม่การออกมาชี้แจงว่าได้มีการปรับปรุงแก้ไขถึงขั้นไหน จากเดิมที่มีปัญหาในเรื่องการยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างในหลายกรณีที่ไม่ต้องมีการกระทำอย่างเปิดเผย ซึ่งอาจเป็นแนวทางเอื้อให้มีการทุจริตได้ และได้มีความพยายามในการที่จะแก้ไขให้กฎหมายสมบูรณ์ขึ้นตามคำท้วงติง  

แต่มีบางกรณีที่ทางคณะกรรมาธิการอยากให้มีการเพิ่มเติมยกเว้นไปในร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อไม่ให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ก็คือการที่มีการนำเงินมาบริจาคเพื่อให้มีการก่อสร้างตึกหรืออาคารมหาวิทยาลัยเมื่อเป็นเงินบริจาคก็คิดกันว่าไม่ควรอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และไม่จำเป็นต้องเปิดเผยงบประมาณก็ได้นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการคิดที่ผิดไปจากหลักความถูกต้อง เพราะทรัพย์สินที่ประชาชนมีความประสงค์จะบริจาคให้กับภาครัฐ ก็จะต้องตกเป็ของแผ่นดินทันที ดังนั้น การที่จะนำเงินหรือทรัพย์สินไปดำเนินการสิ่งใดก็ต้องมีกฎหมายหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างมารองรับไม่เช่นนั้นก็จะเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์จากเงินในส่วนนี้ 

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความตั้งใจในการปราบปรามทุจริต ขอให้ออกมาชี้แจงรายละเอียดและความคืบหน้าของกฏหมายฉบับดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ นายราเมศ ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อยู่ในระหว่างการยกร่าง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า อยากเรียกร้องไปยัง กรธ. ว่าควรจะยกร่างฯ โดยยึดหลักการของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติเป็นหลัก เพราะหากมีสิ่งใดที่ผิดไปจากหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต และควรที่จะรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านเพื่อที่จะใช้ข้อมูลที่หลายภาคส่วนได้สะท้อนเป็นข้อมูลประกอบในการยกร่างฯและ ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ย้ำเสมอว่ามีสิ่งใดที่ กรธ. ต้องการความเห็นจากพรรคก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ 

นายราเมศระบุว่า ส่วนตัวมองว่าควรที่จะเปิดเผยข้อมูลในการยกร่างกฎหมายออกมาเป็นระยะ เพื่อให้ได้แสดงความคิดเห็น ส่วนสาระสำคัญใดที่ทำให้พรรคการเมืองมีการพัฒนาขึ้น หรือมีการกำหนดกรอบอัตราโทษที่จะลงโทษแก่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจโดยการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรือทุจริตในการเลือกตั้งที่สูงขึ้น เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่บางกรณีที่ไม่ควรให้อำนาจในการวินิจฉัยตัดสินลงโทษอยู่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงองค์กรเดียว ควรให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาตัดสินอย่างเช่นการตัดสิทธิ์
กรรมการบริหารพรรคการเมือง 










แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook