กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ (กล้องแรก)

กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ (กล้องแรก)

กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ (กล้องแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เราคงเห็นภาพผ่านตามามากมาย ในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกทรงงาน ณ สถานที่ต่าง ๆ มักจะเห็นกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์คล้องไว้ที่พระศอตลอดเวลา พระองค์ทรงสนพระทัยในด้านการถ่ายภาพมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตามที่บันทีกไว้ในพระราชประวัติถึงพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพว่า “ทรงสนพระทัยด้านการถ่ายภาพตั้งแต่พระชนมายุได้ ๘ พรรษา (พ.ศ. 2478 – ผู้เขียน) โดยสมเด็จพระราชชนนี ได้พระราชทานกล้องถ่ายรูปโคโรเน็ต มิดเจ็ต สีเขียวปะดำแก่พระองค์” (ข้อมูลจาก หนังสือ “ในหลวงฯ กษัตริย์นักพัฒนาผู้ยิ่งใหญ่” โดย พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ, จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ พ.ศ. 2549) และเมื่อตรวจสอบข้อมูลที่บันทึกไว้ในหนังสือ “กษัตริย์และกล้อง” โดย ศักดา ศิริพันธุ์ (ราชบัณฑิต) จัดพิมพ์โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทยุคการถ่ายภาพเฟื่องฟูสมัยรัชกาลที่ 9 บรรทัดที่ว่า “...เมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษาได้ 8 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ซื้อกล้องถ่ายภาพยี่ห้อ Coronet Midget พระราชทานให้พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช....”

จากรายละเอียดข้างต้น เป็นการบ่งบอกได้ว่า กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์กล้องแรก คือ กล้องถ่ายรูปที่ชื่อว่า Coronet รุ่น Midget

ภาพกล้อง Coronet Midget สีเขียว จาก www.auction-team.de

Coronet Camera Co. คือชื่อบริษัทที่ทำการผลิตกล้องรุ่นนี้ออกมาจำหน่าย เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ อยู่ที่เมือง Birmingham ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1921 โดย Frederick John Pettifer โดยเริ่มผลิตกล้อง Coronet Midget เมื่อปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ราคาวางจำหน่ายครั้งแรก คือ 5 ชิลลิง 6 เพนซ์ (ถ้าเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในปัจจุบันที่ 1 ปอนด์ ประมาณ 70 บาท จะได้มูลค่าประมาณ 19.25 บาท – 1 ปอนด์ มี 20 ชิลลิง และ 1 ชิลลิง มี 12 เพนนี)

ภาพประกาศโฆษณาในสหรัฐอเมริกา ระบุราคาขายไว้ที่ 2.85 เหรียญสหรัฐ ภาพจาก www.artisanjewelry-hunter.com

ภาพโฆษณาด้านซ้าย บอกไว้ว่า กล้องขนาดเล็กที่สุดในโลก จาก www.ephotozone.com
ภาพด้านขวา ขนาดที่แท้จริงเมื่ออยู่ในมือ จาก www.geocities.com/mbarel.geo

กล้องถ่ายรูปรุ่นนี้ มีขนาดเล็กมาก โดยยังมีคำโฆษณาว่าเล็กที่สุดในโลก ด้วยขนาดความสูงเพียงประมาณ 5 เซนติเมตร และน้ำหนัก 71 กรัม ซึ่งเล็กมากจนดูเหมือนเป็นของเล่น แต่เป็นกล้องที่สามารถใช้งานได้จริง

ด้วยรูปแบบการผลิตโดยใช้วัสดุที่เรียกว่า “Bakelite” ซึ่งเป็นการผสมผสานของสารสังเคราะห์พลาสติกผสมเรซิน, ฟีนอลและฟอร์มัลดีไฮด์ (คิดค้นโดยนักเคมีชาวเบลเยียม-อเมริกัน ที่ชื่อว่า Leo Hendrik Baekeland โดยคำอ่านชื่อสกุลของเขา Baekeland ได้กลายมาเป็นชื่อของวัสดุภัณฑ์นี้ Bae ke land -> Bakelite) โดยวัสดุนี้เป็นฉนวนทางไฟฟ้า มีสีสันแปลกตาซึ่งเป็นที่นิยมในการนำไปทำวัสดุหรือผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

กล้อง Coronet Midget เป็นกล้องขนาดเล็ก ใช้ฟิล์ม 16 mm. (13 x 18 mm.) ถ่ายได้ 6 ภาพต่อหนึ่งม้วน โดยมีความเร็วชัตเตอร์ความเร็วเดียวที่ 1/30 และค่ารูรับแสงที่ f/10 ส่วนการปรับความชัดของภาพนั้น ใช้การเคลื่อนกล้องเข้า-ออกจากวัตถุ โดยระยะที่สามารถถ่ายได้คือ 5 ฟุตถึงระยะอนันต์ (5 ft – Infinity)

ภาพจาก www.submin.com ด้านซ้ายกล้องรุ่นสีดำพร้อมกล่องใส่ ภาพล่างเป็นม้วนฟิล์มและซองหนังที่ขายแยกต่างหาก ภาพขวาวิธีการใส่ฟิล์มที่ปรากฏอยู่ในคู่มือการใช้งาน

ด้านซ้ายกล้องรุ่นสีดำพร้อมกล่องใส่ ภาพล่างเป็นม้วนฟิล์มและซองหนังที่ขายแยกต่างหาก ภาพขวาวิธีการใส่ฟิล์มที่ปรากฏอยู่ในคู่มือการใช้งาน

กล้องรุ่นนี้ได้รับความนิยมมาก และผลิตออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง แตก็ต้องหยุดชะงักลง เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสงครามสงบ ในราวปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ความพยายามในการผลิตรุ่นต่อเนื่องของกล้องนี้ยังคงมีอยู่ โดยปรับเปลี่ยนรูรับแสงเป็น f/11 และความเร็วของชัตเตอร์ที่ 1/25 ตั้งราคาขายที่ 17 ชิลลิง 10 เพนซ์ (ประมาณ 62.5 บาท – เทียบที่อัตราแลกเงินปัจจุบัน) หลังจากผ่านมาระยะเวลาหนึ่งก็หยุดการผลิตในราว ๆ เดือนกรกฏาคม ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495)

หลากหลายสีสันของ Coronet Midget ภาพจาก www.ephotozine.com

ปัจจุบันนี้กล้องรุ่นนี้ กลายเป็นกล้องหายากและเป็นกล้องสะสมในหมู่นักสะสมกล้องเก่า ซึ่งมีราคาในการซื้อขายได้สูงถึง 25,000 บาทต่อหนึ่งตัว โดยเฉพาะรุ่นสีน้ำเงิน ซึ่งผลิตออกมาจำนวนน้อยและเป็นสีที่ทำได้ยาก (จากขั้นตอนการผลิตด้วยวัสดุ bakelite สีโดยปกติที่ทำได้คือ สีดำ การผสมสีลงไปในวัสดุจะทำให้ได้เป็นสีผสมดำ หรือที่บันทึกไว้ข้างต้นว่า “สีเขียวปะดำ”) ซึ่งหากกล้องที่มีขายอยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ พร้อมอุปกรณ์ครบ ทั้งกล่องใส่และซองหนังโมรอคโค (ผลิตออกมาให้มีสีตามสีกล้อง เพื่อผู้ใช้งานจะได้เลือกซื้อให้ตรงกับกล้อง) ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

ภาพซ้าย รุ่นสีเขียว จากwww.eastman.org
ภาพขวา รุ่นสีน้ำเงินแบบครบชุด จาก www.submin.com

ภาพซ้ายจากwww.scienceandsociety.comรุ่นสีเขียว
ภาพขวาจาก www.submin.comใบรับประกันที่มาพร้อมกับคู่มือ (หน้าที่ 11 ระบุราคาของซองหนังที่ 1/9)

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของ กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์กล้องแรก ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระองค์ได้ทรงเรียนรู้การถ่ายภาพในแบบพื้นฐานมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และด้วยความสนพระทัยในการถ่ายภาพ เราจึงได้เห็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์และกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ไม่ห่างพระวรกายพระองค์ในยามเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อทรงช่วยเหลือประชาชน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นายรอบรู้ เรื่อง : ทีมงาน "นายรอบรู้" (น้อย)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook