ประเพณีโบราณ "ประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพ

ประเพณีโบราณ "ประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพ

ประเพณีโบราณ "ประโคมย่ำยาม" ในงานพระบรมศพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การประโคมดนตรีในงานพระราชพิธีจัดเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์อย่างหนึ่ง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของงานพระราชพิธีที่จะต้องบรรเลงไปตามขั้นตอนของพระราชพิธี ควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง

สำหรับการ "ประโคมย่ำยาม" นั้นมีความหมาย ดังนี้

"ประโคม" หมายถึง บรรเลงดนตรี เพื่อเป็นสัญญาณในพิธีบางอย่างเพื่อสักการะบูชาหรือยกย่อง เป็นต้น

"ย่ำ" หมายถึง ตีกลองหรือฆ้องถี่ๆ หลายครั้งเพื่อบอกเวลา สำหรับเปลี่ยนยาม เรียกว่า ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง ย่ำยามก็เรียก ถ้ากระทำในยามเช้า เรียกว่า ย่ำรุ่ง (ราว ๐๖:๐๐ น.) ถ้ากระทำในเวลาค่ำ เรียกว่า ย่ำค่ำ (๑๘:๐๐ น.)

"ยาม" หมายถึง ชื่อส่วนแห่งวัน ยามหนึ่งมี ๓ ชั่วโมง รวมวันหนึ่งมี ๘ ยาม

ดังนั้น "การประโคมย่ำยาม" หมายถึง การบรรเลงดนตรีเพื่อการสักการะบูชาและเป็นสัญญาณแจ้งให้ทราบถึงเวลาที่จะต้องปฏิบัติงาน โดยมีระยะห่างกันครั้งละ ๓ ชั่วโมง เริ่ม เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา ประโคมครั้งที่ ๑ จนถึงเวลา ๐๓:๐๐ นาฬิกา นับเป็นการประโคมครั้งที่ ๘ ครั้งสุดท้ายของแต่ละวัน ซึ่งมีการปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน หากมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
การรื้อฟื้นวงปี่พาทย์นางหงส์ในการประโคมย่ำยาม

พุทธศักราช ๒๕๓๘ ในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ที่จะรื้อฟื้นการประโคมดนตรี เพื่อที่แสดงให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมและขนบประเพณีที่มีมาแต่โบราณ

โดยมีพระราชดำริกับ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์(อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ในขณะที่ถวายการบรรเลงดนตรีไทยในงานพิธีไหว้ครูช่าง ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ ของกรมศิลปากร ไปประโคมย่ำยามควบคู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง โดยเริ่มเข้าไปประโคมย่ำยามครั้งแรกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ กำหนดให้ประโคมวันละ ๕ ครั้ง คือ

ประโคมครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๒ เวลา ๑๒:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๓ เวลา ๑๘:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๔ เวลา ๒๑:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๕ เวลา ๒๔:๐๐ นาฬิกา

และหลังจากบำเพ็ญพระราชกุศลครบ ๑๐๐ วัน แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่เข้าไปประโคมย่ำยามเฉพาะเวลา ๑๒:๐๐ นาฬิกา และเวลา ๑๘:๐๐ นาฬิกา จนถึงพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ

ต่อมาในพุทธศักราช ๒๕๕๑ ในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังครั้งแต่วันแรก จนครบ ๑๐๐ วัน โดยกำหนดให้ประโคมวันละ ๗ ครั้ง คือ

ประโคมครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๒ เวลา ๐๙:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๓ เวลา ๑๒:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๔ เวลา ๑๕:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๕ เวลา ๑๘:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๖ เวลา ๒๑:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๗ เวลา ๒๔:๐๐ นาฬิกา

นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางมีพระราชดำริให้วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน ขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าของทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ จนครบ ๑๐๐ วัน เพลงเรื่องฉิ่งพระฉัน(เช้า) ประกอบด้วย

๑.เพลงต้นเพลงฉิ่ง ๒.เพลงสร้อยเพลงฉิ่ง ๓.เพลงสามเส้า ๔.เพลงจระเข้ขวางคลอง ๕.เพลงถอยหลังเข้าคลอง ๖.เพลงท้ายถอยหลังเข้าคลอง ๗.เพลงฉิ่งพระฉัน ๔ ท่อน ๘.เพลงฉิ่งนอก ๙.เพลงฉิ่งกลาง ๑๐.เพลงฉิ่งใหญ่ ๑๑.เพลงฉิ่งเล็ก ๑๒.เพลงฉิ่งสนาน ๑๓.เพลงฉิ่งชั้นเดียว ๑๔.รัวเพลงฉิ่ง

ต่อมา ในพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี

กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้จัดวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องคู่ ประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวังตั้งแต่วันแรก จนครบ ๑๐๐ วัน โดยกำหนดให้ประโคมวันละ ๖ ครั้ง คือ

ประโคมครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๒ เวลา ๑๒:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๓ เวลา ๑๕:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๔ เวลา ๑๘:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๕ เวลา ๒๑:๐๐ นาฬิกา

ประโคมครั้งที่ ๖ เวลา ๒๔:๐๐ นาฬิกา

และมีวงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้า ขณะพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้าเหมือนเมื่อครั้งงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นอกจากนี้ยังโปรดให้กลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต ศึกษาเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล และให้บรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล ขณะสงฆ์ฉันภัตตาหารเพล(เฉพาะวันพุธที่มีสมาชิกราชสกุลเข้าร่วมบำเพ็ญพระราชกุศล)เพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเพล ประกอบไปด้วย

๑.เพลงกระบอก ๒.เพลงแมลงวันทอง ๓.เพลงกระบอกทอง (แสนสุดสวาท) ๔.คู่แมลงวันทอง ๕.เพลงตะท่าล่า ๖.เพลงท่าน้ำ ๗.เพลงฟองน้ำ ๘.เพลงฝั่งน้ำ ๙.เพลงมีลม ๑๐.เพลงคลื่นกระทบฝั่ง ๑๑.เพลงทะเลบ้า ๑๒.เพลงลอยถาด ๑๓.เพลงพระยาพายเรือ ๑๔.เพลงมัดตีนหมู ๑๕.เพลงแขกนกกิ้งโครง ๑๖.จบด้วยรัวเพลงฉิ่ง

และในงานพระราชพิธีสวดพระอภิธรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เข้าประโคมย่ำยามร่วมกับวงประโคมของสำนักพระราชวัง จนครบ ๑๐๐ วัน เริ่มวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ โดยกำหนดให้ประโคมวันละ ๖ ครั้ง ดังนี้

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๑ เวลา ๐๖:๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๒ เวลา ๐๙:๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๓ เวลา ๑๒:๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๔ เวลา ๑๕:๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๕ เวลา ๑๘:๐๐ นาฬิกา

ประโคมย่ำยาม ครั้งที่ ๖ เวลา ๒๑:๐๐ นาฬิกา

สำหรับ วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังนั้น โดยปกติมี ๒ วง คือ

๑.วงสังข์แตร มี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง (จำนวนของเครื่องดนตรีทั้งวงตามพระราชอิสริยยศ)

๒.วงปี่ไฉนกลองชนะ มี ปี่ไฉน ๑ (มี ๒ คนสลับกันเป่า) เปิงมาง ๑ กลองชนะแดงลายทอง(จำนวนตามพระราชอิสริยยศ)

ในการประโคมย่ำยามครั้งนี้ ตาม โบราณราชประเพณี และพระราชอิสริยยศ วงประโคมของงานเครื่องสูง จะมีกลองมโหระทึก จำนวน ๒ ใบ ตีประโคมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นวงประโคมย่ำยามในการพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วงประโคมย่ำยาม มีวงประโคมและเครื่องดนตรี ดังนี้

๑.วงประโคมของงานเครื่องสูง ประกอบด้วย มโหระทึก ๒ ใบ วงสังข์แตร และวงปี่ไฉนกลองชนะ

-วงสังข์แตร มีจำนวนเครื่องดนตรี ดังนี้ ๑.สังข์ ๔ ขอน ๒.แตรงอน ๑๐ คัน ๓.แตรฝรั่ง ๑๐ คัน

-วงปี่ไฉนกลองชนะ ประกอบด้วย ๑.ปี่ไฉน ๑ เลา ๒.เปิงมาง ๑ ลูก ๓.กลองชนะแดงลายทอง ๔๐ ใบ

๒.วงประโคมของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ใช้วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่เครื่องดนตรีทุกชิ้นระดับด้วยมุก เครื่องดนตรีประกอบด้วย ๑.ปี่ชวา ๑ เลา ๒.ระนาดเอก ๑ ราง ๓.ระนาดเอกเหล็ก ๑ ราง ๔.ระนาดทุ้ม ๑ ราง ๕.ระนาดทุ้มเหล็ก ๑ ราง ๖.ฆ้องวงใหญ่ ๑ วง ๗.ฆ้องวงเหล็ก ๑ วง ๘.กลองทัด ๒ ลูก ๙.ฉิ่ง ๑ คู่

โดย มีลำดับการประโคม ดังนี้

การประโคมเริ่มด้วยวงสังข์แตรกับวงปี่ไฉนกลองชนะ(โคมสลับต่อเนื่องกัน) เป็นวงประโคมลำดับที่ ๑ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ เป็นวงประโคมลำดับที่ ๒ มีลำดับการประโคม ดังนี้

วงประโคมลำดับที่ ๑ เริ่มด้วย ประโคมมโหระทึก (ตีประโคมตลอดเวลาจนกระทั่งจบการประโคมลำดับที่ ๑ ) วงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบท จบแล้ว วงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม เมื่อจบกระบวนเพลงแล้ว วงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบท อีกครั้ง ต่อด้วยวงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม อีกครั้งหนึ่งจบกระบวนเพลง และวงสังข์แตร ประโคมเพลงสำหรับบท ครั้งสุดท้าย เป็นการจบการประโคมลำดับที่ ๑

วงประโคมสำดับที่ ๒ วงปี่พาทย์นางหงส์เครื่องใหญ่ ประโคมเพลงเรื่องนางหงส์ประกอบด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงกระบอกทอง เพลงคู่แมลงวันทอง และเพลงแมลงวันทอง เป็นเพลง

สุดท้าย เมื่อประโคมจบ เป็นการเสร็จการประโคมย่ำยาม ๑ ครั้ง

นอกจากนี้ในพระราชพิธีสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในแต่ละวันนั้น ขณะที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเช้า วงปี่พาทย์พิธีบรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งพระฉันเช้าและในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร(๗ วัน) ปัณรสมวาร (๑๕ วัน) ปัญญาสมวาร (๕๐ วัน) และในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (๑๐๐ วัน) วงปี่พาทย์พิธี บรรเลงเพลงเรื่องฉิ่งฉันพล ดั่งเช่นได้ถือปฏิบัติมา
การเรียกชื่อและเครื่องแต่งกาย

วงประโคมของสำนักพระราชวัง ใช้คำเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า "เจ้าพนักงาน" เช่น เจ้าพนักงาน ประโคมมโหระทึก เจ้าพนักงานจ่าปี่ เจ้าพนักงานจ่าเปิง เป็นต้น

การแต่งกาย แต่งด้วยชุดสีแดง ตามโบราณราชประเพณีซึ่งแต่งเหมือนกันหมดทั้งในงานพระราชพิธีมงคล และพระราชพิธีอวมงคล

วงสังข์แตร เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกปัสตูแดงรูปกรวยปลายพู่ขาว เสื้อปัสตูแดงแขนบานขลิบลูกไม้ใบข้าว กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลือง รองเท้าดำ

เจ้าพนักงานมโหระทึก จ่าปี่ และจ่ากลอง(เปิงมาง) เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดบัวตูม เสื้อเข้บขาบไหม กางเกงมัสหรู่ไหม เข็มขัดแถบทองหัวครุฑ รองเท้าดำ

เจ้าพนักงานจ่ากลอง(ชนะ) เครื่องแต่งกายประกอบด้วย หมวกกลีบลำดวนปัสตูแดงขลิบเหลือง เสื้อปัสตูแดง กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลือง รองเท้าดำ

วงประโคมของกรมศิลปากร ใช้คำเรียกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานว่า "นักดนตรี" หากมีชื่อเรียกตามตำแหน่งว่า "ดุริยางคศิลปิน" เครื่องแต่งกาย จะแต่งกายตามหมายกำหนดการที่กำหนดไว้ให้ ได้แก่ เครื่องแบบเต็มยศ ไว้ทุกข์ เครื่องแบบครึ่งยศ ไว้ทุกข์ และเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์

เกร็ดความรู้เรื่องวงปี่พากย์นางหงส์

แต่เดิม วงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงดนตรีที่บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระศพวงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจาก "วงปี่พาทย์ไทย" ประสมวงกับ วงบัวลอย (วงกลองสี่ปี่หนึ่งซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน) โดยปรับเปลี่ยน ใช้ปี่ชวาแทนปี่ใน และใช้กลองทัดแทนกลองมลายู และตัดเหม่งออกไป

สาเหตุที่เรียกว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ นั้น เรียกตามชื่อหน้าทับที่ใช้ตีกำกับเพลงเรื่องชุดนี้ คือ หน้าทับนางหงส์ จึงเรียก "ชื่อวงปี่พาทย์และชื่อเพลงเรื่อง" ที่ใช้บรรเลงนี้ว่า วงปี่พาทย์นางหงส์ และเพลงเรื่องนางหงส์ การนำวงปี่พาทย์นางหงส์มาใช้ในงานอวมงคลนั้น เป็นการจัดระเบียบวัฒนธรรมการบรรเลงของดนตรีไทย ที่มีแบบแผนการบรรเลงไว้ให้เหมาะสมกับกาลเทศะ กล่าวคือ

- งานมงคลเพื่อการขับกล่อม ใช้วงมโหรี,วงเครื่องสาย

- งานประกอบพิธีกรรม ประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์ (ไทย)

- งานรื่นเริง การบรรเลงเพื่อการฟัง ใช้วงปี่พาทย์เสภา

- งานอวมงคล ใช้วงปี่พาทย์นางหงส์ การเรียงร้อยเพลงเรื่องนางหงส์ ชุดนี้ โบราณจารย์ท่านเรียบเรียงไว้ใช้กับงานอวมงคล โดยจัดระเบียบแบบแผนและขั้นตอนการบรรเลงไว้ให้เหมาะสมกับช่วงระยะเวลาของพิธีกรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook