๙ ถ้อยความจากบทสัมภาษณ์ในอดีต ของ ๙ บุคคล กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "พ่อหลวง"

๙ ถ้อยความจากบทสัมภาษณ์ในอดีต ของ ๙ บุคคล กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "พ่อหลวง"

๙ ถ้อยความจากบทสัมภาษณ์ในอดีต ของ ๙ บุคคล กับเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "พ่อหลวง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้อยความที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนเกิดขึ้นในบริบทของการสนทนาที่แตกต่างทั้งวาระ และเวลา บ้างก็เกี่ยวกับชีวิต บ้างก็เกี่ยวกับการทำงาน และบ้างก็เป็นเรื่องราวความสนใจในมุมมองต่างๆ แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้กลับมีร่วมกัน คือ พวกเขามี ในหลวง รัชกาลที่ 9 ตราประทับอยู่ในใจ อยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเหตุผลให้คำตอบร้อยแปดพันเก้าเกี่ยวกับในหลวงหลั่งใหลออกมาในบัดดล

๑.

"แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมสนใจวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวง รัชกาลที่ 9 คือ ผมชื่นชมในพระบารมีของพระองค์ท่าน ซึ้งใจในน้ำพระทัยของท่านในการช่วยเหลือพสกนิกรที่อยู่ในทุกหย่อมหญ้าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และพระบรมราโชวาทของท่านก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดีครับ เช่นเรื่องความเพียร ความมุมานะ และเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง"

สุวิทย์ ใจป้อม
ศิลปินผู้อุทิศจิตวิญญาณวาดภาพในหลวงจากพระบรมสาทิสลักษณ์ / จากบทสัมภาษณ์ใน GM ฉบับ 401



๒.

"ผมยกย่องให้ในหลวง เป็นแบบอย่างของสุดยอดนักดนตรีแจ๊ซ อีกทั้งเพลงแรกในชีวิตที่ผมหัดเป่าแซกฯ ก็คือเพลงพระราชนิพนธ์อย่าง 'แสงเทียน', 'ชะตาชีวิต' และ 'ใกล้รุ่ง' "

เศกพล อุ่นสำราญ หรือ Koh Mr. Saxman
ศิลปินแจ๊ซชื่อดัง / จากบทสัมภาษณ์ใน GM ฉบับ 385



๓.

"ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำเพื่อเมืองไทยมามาก ผมเคยได้ยินมาว่าในหลวงท่านคิดโครงการในพระราชดำริวันละหนึ่งโครงการ และท่านทรงเป็นนักประดิษฐ์นักคิดที่สร้างสรรค์ ในพระราชวังของท่านมีแปลงเกษตรสำหรับทดลองเรื่องต่างๆ เพื่อแบ่งปันความรู้ให้เกษตรกร และเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ผมไม่รู้ แต่ที่รู้คือท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักมาก และท่านทำในสิ่งที่เราหลายคนคิดไม่ถึง เช่น ท่านเอากาแฟไปปราบฝิ่นที่ดอยตุง เอาพืชเมืองหนาวไปปราบฝิ่นที่ดอยอ่างขาง และผมเชื่อว่าสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านอยากเห็น คือคนไทยใช้ชีวิตโดยต่อยอดแนวคิดที่ท่านทำทิ้งไว้ให้เราสักเล็กน้อยก็ยังดี ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนน่าจะทำได้เพื่อให้ท่านสบายใจ"

อารันดร์ อาชาพิลาส
ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและผู้ก่อตั้งนิตยสารเพื่อสังคมและสร้างแรงบันดาลใจ / จากบทสัมภาษณ์ใน 247 ฉบับ 109



๔.

"ละครเวทีเรื่องพระสุธนมโนราห์ที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสร้าง คือแรงบันดาลใจทางการแสดงที่ทำให้เราชอบทดลอง และนำศาสตร์หลายๆ อย่างมาผสมผสานกัน"

ภัทราวดี มีชูธน
ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ละครเวทีและภาพยนตร์) / จากบทสัมภาษณ์ใน 247 ฉบับ 093



๕.

"สิ่งที่ผมมีไว้เป็นที่พึ่งก็คือ หนังสือพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 แต่จะเรียกท่านว่าเป็นไอดอลของผมก็คงพูดยาก ท่านเป็นมากกว่าไอดอล แต่พูดได้ว่าเป็นที่พึ่ง และพระราชดำรัสของท่านเป็นอิทธิพลต่อความคิดและจิตใจเรา มันทำให้เราสงบ ในเวลาที่เรารู้สึกแย่"

เขมวิช ภังคานนท์
นักเขียน นักดนตรี และทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคาร / จากบทสัมภาษณ์ใน 247 ฉบับ 100



๖.

"ภาพที่ขุนพันธ์กำลังคุกเข่าแล้วต่อเทียนเล่มหนึ่งต่อจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ปรากฏอยู่ในหนังสืองานศพของท่านขุนพันธ์ ทำให้ผมขนลุกทันทีที่ได้เห็น ผมบอกกับตัวเองและทีมงานทุกคนว่า ไม่ว่ายังไงผมก็จะทำหนังเรื่องนี้ จากการต่อเทียนศรัทธาเล่มนี้ ซึ่งศรัทธาของเราไม่ได้มานั่งพูดว่า เอ้า! พวกเราจงมาศรัทธากัน แต่เราพูดในแง่ของคนที่อยู่ในโลกที่โสมมสุดๆ แบบนี้ ว่าเรายังจะจุดเทียนแห่งศรัทธากันได้ไหม"

ก้องเกียรติ โขมศิริ
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์ / จากบทสัมภาษณ์ใน 247 ฉบับ 295



๗.

"การใช้ชีวิตพอเพียงอย่างที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเป็นอีกหนึ่งทางรอดที่สำคัญที่สุด เราต้องลดความต้องการ ลดความโลภลง แล้วก็ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ทุกวันนี้ผมประเมินตัวเองตลอดเวลาว่าเราเห็นแก่ตัวมากเกินไปมั้ยในบางเรื่อง อาจเห็นแก่ตัวได้บ้างในแง่ของการรักตัวเอง ดูแลตัวเอง และครอบครัว ช่วยทำให้เขาไม่ลำบาก แต่จิตต้องไม่พยายามโลภมากเกินไป

แทนคุณ จิตต์อิสระ
นักการเมือง / จากบทสัมภาษณ์ใน 247 ฉบับ 030



๘.

"ผมพยายามศึกษาโครงการของในหลวง รัชกาลที่ 9 จนได้คำ ๓ คำ นั่นคือ ธรรมดา ธรรมชาติ และธรรมะ แล้วผมก็นำ ๓ คำนี้ มาใช้สร้างลานแผ่นดิน (ลานเฉลิมพระเกียรติที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินกลาง)"

พัชระ วงศ์บุญสิน
สถาปนิกผู้สร้างสรรค์ ลานเฉลิมพระเกียรติ บนถนนราชดำเนินกลาง / จากบทสัมภาษณ์ใน Home & Decor ฉบับ 280



๙.

"ผมเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยทุกคน คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงตรัสไว้ในหลายโอกาสว่า เราต้องพยายามส่งเสริมคนดีให้ได้มีโอกาสปกครองบ้านเมือง บ้านเมืองเป็นของทุกคน อย่าไปฝากความหวังไว้เฉพาะกับนักการเมือง เราต้องช่วยกันสร้างสังคมสมัยใหม่ สังคมที่มีความยุติธรรม มีความโปร่งใส เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"

อภิรักษ์ โกษะโยธิน
นักการเมือง / จากบทสัมภาษณ์ใน GM ฉบับ 369

ขอบคุณข้อมูลhttp://www.247freemag.com/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook