เปิดชีวิต หมอนักสู้ จากเด็กยากจนสู่บัณฑิตแพทย์เกียรตินิยม

เปิดชีวิต หมอนักสู้ จากเด็กยากจนสู่บัณฑิตแพทย์เกียรตินิยม

เปิดชีวิต หมอนักสู้ จากเด็กยากจนสู่บัณฑิตแพทย์เกียรตินิยม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(31 ต.ค.) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยเรื่องราวชีวิตของ แพทย์หญิงสายสุดา ขวัญเพชร หรือ "หมอโหน่ง" บัณฑิตแพทย์เกียรตินิยม สำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ปัจจุบันอายุ 25 ปี ภูมิลำเนา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ บุตรสาวของนายธนูชัย และ นางทองประกาย ขวัญเพชร อาชีพรับจ้างทั่วไป หลังจบการศึกษาหมอโหน่งเข้ารับราชการที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ตำแหน่งแพทย์ปฏิบัติการ

หมอโหน่ง บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาชีวิตตนได้อยู่แต่กับความลำบากมาโดยตลอด ด้วยครอบครัวมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ที่สวนเล็กๆห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5 กม. ทุกเช้าตนต้องเดินเท้าไปเรียนหนังสือในหมู่บ้าน ในช่วงของวันหยุดต้องช่วยงานพ่อกับแม่ทำสวนปลูกผลไม้แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝนแล้ง พ่อต้องทิ้งสวน ไปทำงานรับซื้อของเก่าที่ จ.ภูเก็ต

จากนั้นครอบครัวจึงต้องแตกแยก ตนต้องอยู่กับป้าที่นครพนม น้องชายอยู่กับยายที่ศรีสะเกษ ไม่มีการติดต่อกันนานนับปี จนพ่อกับแม่กลับมาอีกครั้งพร้อมกับทำอาชีพตระเวนค้าขายยาเส้นตามหมู่บ้าน หลายครั้งที่ตนต้องอยู่กับน้องชายลำพัง ทำหน้าที่ดูแลน้องหุงข้าวทำกับข้าวให้น้องแล้วเดินไปโรงเรียนกัน ทุกครั้งที่คิดถึงพ่อแม่มากจนต้องใช้ดินสอเขียนข้างเสาบ้านว่าพ่อแม่ไปได้กี่วันแล้วนับวันรอคอยวันกลับมา ชีวิตตนมันลำบากมาตลอด จนมองว่าเป็นเรื่องปกติ

หลังเรียนจบ ม.3 จากโรงเรียนนอกเมือง สอบเข้าเรียนโรงเรียนระดับอำเภอโรงเรียนกันทลักษ์วิทยาได้ ต้องนั่งรถมาเรียน 40 กม. และต้องประหยัดเงินด้วยการห่อข้าวมาทานที่โรงเรียน นานๆ ทีจะมีโอกาสไปกินข้าวที่โรงอาหาร เพราะต้องเก็บเงินไว้จ่ายค่ารถรับส่งทุกเดือน แม้จะมีเสียงเหน็บแนมว่า เก่งบ้านนอกไม่สู้กระจอกในเมือง แต่ตนสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กบ้านนอกที่มาเรียน สามารถสอบได้อันดับที่ 1 ของโรงเรียนมัธยมปลายได้อย่างภาคภูมิใจ

ความฝันอยากเรียนหมอ "สายสุดา ขวัญเพชร" บอกว่าเกิดขึ้นในช่วงตอนเรียนมัธยมต้น เพียงคิดว่าอยากเป็นหมอเหมือนในละครที่ตนชอบ อยากไปช่วยเหลือคนไข้ที่ยากไร้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการวางแผนการเรียน ซึ่งตนก็ทำได้แค่ตั้งใจเรียนในห้อง อ่านหนังสือตำราในห้องสมุด อาศัยหนังสือเก่าและข้อสอบเก่าจากรุ่นพี่ ฝึกทำโจทย์ซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากไม่มีเงินเรียนพิเศษเหมือนคนอื่น ช่วงเรียน ม.6 จึงสมัครโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) เป็นโครงการของกระทรวงสาธารณสุขที่แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในที่ทุรกันดาร

จนในที่สุด ตนสามารถสอบติดแพทย์ที่ ม.อุบลราชธานีได้ เป็นความฝันที่กำลังเป็นจริงซึ่งยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากอะไร เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทางออกคือพ่อกับแม่ต้องขายที่สวนทั้งหมด เพื่อเป็นค่าเทอม ค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ในความลำบากได้มีโอกาสดีๆ เกิดขึ้นตน โดย สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้สนับสนุนทุนการศึกษาดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนจบหลักสูตรแพทย์ 6 ปี และยังทำให้น้องชายตนมีโอกาสได้เรียนต่อมหาวิทยาลัยด้วย จากที่เคยเคยหยุดเรียนแต่ก่อนเพราะต้องนำเงินของครอบครัวมาส่งเสียตนเรียนนั่นเอง

"วันนีได้พิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นแล้วว่า จากชีวิตเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ที่สามารถตามหาฝันเรียนจบแพทย์ได้สำเร็จ กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ต้องขอบคุณโอกาสดีๆที่ทุกคนหยิบยื่นให้ ขอบคุณพ่อกับแม่ผู้ให้กำเนิดที่ทำงานหนักเพื่อลูกมาโดยตลอด ขอบคุณครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ ขอบคุณร่างอาจารย์ใหญ่ชูเกียรติ สกุลคู และคนไข้ทุกคนที่เป็นครู ตลอดจนเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ให้กำลังใจ ขอบคุณผู้เปลี่ยนชีวิตตนให้เป็นหมอได้อย่างภาคภูมิใจวันนี้ คือสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขอบคุณสถาบันอันทรงเกียรติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ที่ทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้จนจบหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตอย่างภาคภูมิใจ สิ่งที่จะตอบแทนทุกคน ได้คือการทำหน้าที่เป็นหมอที่ดี ดูแลรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด ให้อยู่กับคนที่เรารักนานแสนนานตลอดไป" แพทย์หญิงสายสุดา กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook