ทางเลือก ทางรอด วิกฤตราคาข้าว ชาวนาไทย

ทางเลือก ทางรอด วิกฤตราคาข้าว ชาวนาไทย

ทางเลือก ทางรอด วิกฤตราคาข้าว ชาวนาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"กสิกรแข็งขันเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ไทยจะเรืองอำนาจเพราะไทยเป็นชาติกสิกรรม" คำร้องที่บ่งบอกถึงความสำคัญและวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยที่ส่วนใหญ่จะดำเนินชีวิตด้วยการเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยเพราะอาชีพชาวนา ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นอาชีพที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะมีความสำคัญในการสร้างอาหารให้กับคนไทย คนไทยทุกคนเกิดมาต้องกินข้าวและบริโภคเป็นอาหารหลักมาช้านานตั้งแต่สมัยอดีต

แต่ที่น่าแปลกใจทั้งที่คนไทยกว่า 60 ล้าน บริโภคข้าวมากมายในแต่ล่ะปีและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีจากอัตราที่เติบโตของเด็กรุ่นใหม่ ความต้องการข้าวก็มีมากขึ้น แต่ฉะไหนเลยรายได้ของชาวนาไทยจึงสวนทางกับความต้องการข้าวที่มากขึ้น นับวันราคาข้าวยิ่งตกต่ำและดิ่งด่ำลงเหวมากขึ้นทุกที ถึงขนาดที่ว่า หากจะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งซอง ต้องใช้ข้าวเปลือกถึง 1 กิโลครึ่ง กว่าจะหามารับประทานได้

ที่น่าตกใจไปมากกว่านี้ผู้บริโภคข้าวสำเร็จรูปยังคงต้องซื้อข้าวสารในราคาที่สูงอยู่เหมือนเดิม ทั้งที่ข้าวเปลือกราคาถูกแสนถูก แล้วส่วนต่างที่เกิดขึ้นหายไปไหน? ชาวนาต้องทำอย่างไรถึงจะพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ต้องยอมรับว่าปัญหาราคาข้าวตกต่ำส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด และคู่แข่งขันต่างประเทศที่สามารถผลิตข้าวส่งออกช่วงชิงโควต้าส่งออกข้าวของไทย ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ยากจะแก้ไข แต่มีอีกหนึ่งปัญหาราคาข้าวตกต่ำของชาวนาที่สะสมมานานกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและอยู่ใกล้ตัวชาวนาไทยมากที่สุด คือ ปัญหาการกดราคาข้าวของบางโรงสีที่เห็นแก่ตัว และทำเป็นขบวนการ ทำสัญญาทาสให้กับชาวนาอีกด้วยเพื่อที่จะสามารถกดราคาให้ได้ตามที่ตนเองต้องการ

ซึ่งกลโกงส่วนหนึ่งที่บางโรงสีกดราคาข้าวชาวนา คือ การโกงตาชั่ง และค่าความชื้น หากชาวนาบางคนไม่พอใจราคาข้าวเปลือกที่ได้จากโรงสี ก็จะไม่ถูกรับซื้อ ถึงแม้ว่าชาวนาจะนำข้าวไปขายที่โรงสีอื่นก็จะถูกปฏิเสธซื้ออีกเช่นกัน เนื่องจากว่าโรงสีที่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ จะแบ่งพื้นที่ในการรับซื้อข้าว จะไม่รับซื้อข้าวจากชาวนาที่อยู่นอกเขตและจะมีการตั้งราคากลางกันเองเพื่อรับซื้อข้าวในแต่ล่ะเขตที่ตนเองดูแล

นอกจากนี้โรงสีที่เห็นแก่ตัวจะให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ชาวนาเพื่อนนำไปลงทุนในการทำนา เช่น ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง และจะทำการหักจ่ายคืนทีหลัง จากการนำผลผลิตมาขายคืนแก่โรงสี เงินที่ได้จะถูกหักเงินที่ยืมไปพร้อมดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือชาวนาถึงจะได้เงินจริงๆ สัญญาทาสนี้ถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่โรงสีเห็นแก่ตัวสามารถใช้กดราคาข้าวจากชาวนาได้ ทำให้ชาวนาไม่สามารถปฏิเสธได้

หากไม่ยอมก็ไม่สามารถขายข้าวได้ ไม่มีเงินใช้ปลดหนี้ถ้าจะนำไปขายที่อื่นโรงสีก็ไม่รับซื้อเพราะฮั้วกันหมดชาวนาบางคนถูกหักเงินจนไม่เหลืออะไรเลยก็มี ถึงขนาดต้องไปยืมเงินคนอื่นมาลงทุนต่อ สุดท้ายชาวนาก็ไม่มีทางเลือกต้องยอมรับราคาข้าวที่ต่ำอย่างไม่เป็นธรรม

เพราะฉะนั้นแล้วชาวนาไทยจึงต้องปรับตัวไม่เป็นทาสพ่อค้าคนกลาง ไม่พึ่งโรงสีข้าวจนมากเกินไป เช่น สีข้าวเองแล้วนำไปขายออนไลน์จากท้องนาสู่ประชาชนเพื่อคนไทยได้กินข้าวที่ถูกและดี หรือ การรวมกลุ่มเป็นชุมชนหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด เพื่อต่อรองราคาข้าว หรือ ผลิตข้าวเป็นของตนเอง ก็จะสามารถช่วยเกษตรกรชาวนาในอีกทางหนึ่ง

ซึ่งถ้าหากว่าหลายๆชุมชนช่วยกันพัฒนาข้าว ก็จะเกิดการแข่งขันกันด้านคุณภาพ ทำให้คนไทยได้บริโภคข้าวที่ดีมีคุณภาพ ที่สำคัญชาวนาก็จะมีกำไรมากขึ้นจากการทำนา นอกจากนี้ชาวนาควรปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการทำนารายปี 

ที่สำคัญรัฐบาลควรสนับสนุนและส่งเสริมชาวนาให้ปลูกข้าวแบบขายตรงให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ออกแค่นโยบายประชานิยมแบบขายฝัน โดยเอาชาวนาเป็นตัวประกัน สุดท้ายชาวนาก็รับกรรมและปัญหาก็ยังคงสะสมอยู่ต่อไป แบบนี้เค้าเรียกว่าเกาไม่ถูกที่คัน

ถึงแม้ว่าวิกฤตราคาข้าวตกต่ำจะสร้างปัญหาให้กับชาวนาเป็นอย่างมาก หากชาวนารอคอยแต่ความช่วยเหลือทางรอดคงมีน้อย เพราะฉะนั้นแล้วชาวนาควรช่วยตัวเองด้วยการเลือกทางรอดที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เช่นนี้แล้วอนาคตชาวนาไทยจะมั่งคั่งและยังยืนอีกยาวไกล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook