ดนตรีเปลี่ยนชีวิต “อิมมานูเอล” โรงเรียนดนตรีคลาสสิกกลางชุมชนคลองเตย

ดนตรีเปลี่ยนชีวิต “อิมมานูเอล” โรงเรียนดนตรีคลาสสิกกลางชุมชนคลองเตย

ดนตรีเปลี่ยนชีวิต “อิมมานูเอล” โรงเรียนดนตรีคลาสสิกกลางชุมชนคลองเตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“One good thing about music, when it hits you, you feel no pain.” สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งของดนตรีคือ เมื่อมันโดนใจคุณ คุณจะไม่รู้สึกเจ็บปวด บ็อบ มาร์เลย์ นักดนตรีเพื่อชีวิตชื่อดังชาวจาไมก้าว่าไว้ เพราะดนตรีไม่เคยทำร้ายใคร เพราะดนตรีเป็นศิลปะสากล เมื่อเปิดใจคุณจะรู้สึกถึงความงดงามและปล่อยให้มันค่อยๆ บำบัดจิตใจหากคุณต้องการ

Immanuel Music School หรือโรงเรียนสอนดนตรีอิมมานูเอล โรงเรียนสอนดนตรีคลาสสิกเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนคลองเตย ชุมชนที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อและฝังจำว่าเป็นชุมชนแออัด มีความอ่อนแอทางสภาพแวดล้อม แม้เวลาที่ผ่านไปจะทำให้คนในชุมชนใส่ใจกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น แต่ด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าภาพที่ทำให้คนส่วนใหญ่จดจำยังคงมีอยู่

เป็นเวลากว่า 16 ปีที่โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้เปิดสอนดนตรีแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับเด็กในชุมชนและผู้ที่สนใจ ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับภารกิจบ่มเพาะลูกหลานของคนในชุมชนที่เปรียบเสมือนกล้าอ่อน แม้จะมีต้นกำเนิดจากดิน น้ำ อากาศที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก แต่ “ดนตรี” กลับเป็นส้อมพรวนสำคัญ ทำให้เด็กในชุมชนคลองเตยค่อยๆ ออกห่างจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ

“จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผมอยากเรียนที่นี่มาก เรียนที่นี่สนุก และผมคิดว่าจะเรียนต่อไปเรื่อยๆ เคยไปเล่นเป็นวงเลยครับ พอไปเล่น คนมาดูเยอะมากก็ตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยไปอย่างนี้มาก่อน” นี่คือเหตุผลการมาเรียนดนตรีของน้องปอนด์ เด็กชายวัย 10 ขวบ เด็กในชุมชนคลองเตยที่เริ่มเรียนไวโอลินมาตั้งแต่อนุบาล แม้ฝันของเขาคือนักบิน แต่จะเป็นไรไปถ้านักบินจะเล่นดนตรีหรือฮัมเพลงไปด้วย

ส่วนโมโม เด็กนักเรียนชั้นม.1 เริ่มเรียนไวโอลินมาตั้งแต่อนุบาล ก็รู้สึกสนุกและมีความสุขกับการเล่นดนตรี “มาเรียนที่นี่สนุกดี ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ออกงานเยอะมาก หลากหลายที่ และเสียงตอบรับดีมากๆ เลย”

เสียงสะท้อนที่น่าจะทำให้ครูต้นกล้วย-วรินทร์ อาจวิไล อาจารย์ประจำเพียงหนึ่งเดียวของโรงเรียนอิมมานูเอลมีกำลังใจเป็นผู้เพาะปลูกต้นกล้าเหล่านี้ต่อไป เพราะครูต้นกล้วยเองก็คือผลผลิตที่สวยงามจากโรงเรียนแห่งนี้เช่นเดียวกัน

“เมื่อ 16 ปีก่อนอาจารย์ผมเป็นคนนอร์เวย์ (สุวัย-ดาร์ก โยฮันเนสเซ่น) เข้ามาสอนศาสนาที่นี่ แต่เขาก็ไม่รู้จะสอนอะไร ตัวเขาเล่นดนตรีอยู่แล้ว เขาก็เริ่มจากสอนเปียโนก่อน ส่วนลูกเขาเรียนไวโอลินที่นู่นอยู่แล้ว เลยรู้พื้นฐาน ก็เอามาสอนลูกๆ ของคนในโบสถ์ก่อน ส่วนผมเป็นรุ่นที่เขาไปเปิดศูนย์สอนใหม่ อาจารย์ผมไม่ได้คิดเรื่องสอนศาสนาเท่าไร เหมือนเขาอยากสอนดนตรีมากกว่า”

ในช่วงแรกมีเครื่องดนตรีอยู่แค่ 2 ชิ้น เวลาจะซ่อมเครื่องดนตรีอาจารย์ก็เอาเงินของตัวเองออกก่อน แล้วค่อยๆ เจียดเงินส่วนตัวซื้อเครื่องดนตรีเพิ่ม จากที่มีนักเรียน 7-8 คน เด็กมาเรียนแบบมาๆ หายๆ บางคนจริงจัง บางคนไม่จริงจัง หรือแม้แต่ครูต้นกล้วยที่ไม่ได้ตั้งใจเรียนดนตรีแต่แรก กลับพลิกผันมาเอาดีด้านดนตรีแบบไม่ได้ตั้งใจ

“ตอนนั้นผมตั้งใจจะเรียนศิลปะ แต่วันนั้นมันดันมีทั้งศิลปะและดนตรี เขาเลยดึงผมไปเรียนดนตรี ทั้งๆ ที่ใจไม่ค่อยอยากเรียนเท่าไร นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่ได้จับไวโอลิน แล้วตอนนั้นมีเพื่อนเรียนด้วย เพราะความเป็นคนขี้อิจฉาไม่อยากให้เพื่อนนำ ก็เลยเรียนไปเรื่อยๆ เพราะอยากเอาชนะเพื่อน อยากเล่นได้มากกว่าเพื่อน”

กระทั่งภาพยนตร์ Season Change กลายเป็นกระแสและนั่นคือการจุดประกายให้ครูต้นกล้วยก้าวต่อไปในเส้นทางของดนตรีและกลายมาเป็นครูประจำอยู่ที่โรงเรียนอิมมานูเอลได้ประมาณ 2-3 ปีแล้ว

ปัจจุบันโรงเรียนอิมมานูเอลมีนักเรียนประมาณ 100 คน นักเรียนที่เรียนจริงจังมีประมาณ 50-60 คน เด็กที่มาเรียนอายุน้อยสุดประมาณ 4 ขวบไปจนถึงอายุประมาณ 20 ซึ่งดร็อปเรียนมาเพื่อสอบเข้าปริญญาตรี รวมทั้งยังมีเด็กชาวเขาจากจังหวัดเชียงรายเดินทางมาเรียน แม้หลายคนจะคิดว่าดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีชั้นสูง ฟังและเข้าใจยาก หากแต่นี่คือความท้าทายและการปูพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับเด็กๆ ทุกคน

“ผมรู้สึกว่าการที่คนคิดว่ามันเป็นดนตรีที่เอื้อมไม่ถึง มันท้าทายให้เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่คิดว่าเอื้อมไม่ถึงสามารถถ่ายทอดให้กับคนฟังเข้าใจได้ เพราะเขาไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อเล่นเพลงยากให้คนฟังไม่ถึง แต่คนฟังจะรู้ว่าเราซ้อมมาอย่างหนักเพื่อเล่นให้เขาฟัง โดยเขาไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย และดนตรีคลาสสิกมันเป็นพื้นฐานที่ดี ถ้าเล่นดนตรีคลาสสิกได้คุณก็เล่นอย่างอื่นได้ทุกอย่าง เพราะดนตรีไม่มีพรมแดน”

หลักสูตรของอิมมานูเอลเทียบเท่ากับระดับมหาวิทยาลัยเพราะมีตั้งแต่วิชาทฤษฎีดนตรี ที่ต้องเริ่มจากการฟังเพราะเมื่อร้องประสานเสียงร่วมวงจะได้แยกฟังได้ เด็กที่เข้ามาสามารถเลือกเรียนเครื่องดนตรีที่เขาอยากเรียนได้เลยเพราะที่นี่มีเกือบครบทั้งไวโอลิน วิโอลา กีตาร์ กลอง เปียโน มีเรียนร้องเพลง ยกเว้นเครื่องเป่า โดยคลาสเรียนจะเปิดสอนทุกวันในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนไปจนถึงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังอิมมานูเอลกลายเป็นโรงเรียนสอนดนตรีแบบเต็มตัวคือมีการฟอร์มวง มีการแสดงคอนเสิร์ตให้คนภายนอกชมซึ่งเริ่มต้นมาได้ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นสิ่งที่เห็นชัดเจนขึ้นคือความสัมพันธ์ในครอบครัวของเด็กๆ “สมัยก่อนพ่อแม่จะไม่ยอมรับเลยที่ลูกต้องมาซ้อมเพราะรู้สึกว่าเสียเวลาช่วยงานบ้าน ปิดเทอมแทนที่จะมาช่วยงานบ้าน พอหลังๆ พอเขาเห็นลูกแสดงคอนเสิร์ต เขารู้สึกภูมิใจ และเห็นว่าสิ่งที่ลูกทำมีค่า อันนี้คือสิ่งที่ผมว่ามันเปลี่ยนแปลง”

ในอนาคตครูต้นกล้วยจึงตั้งใจว่าอยากให้คนสนับสนุนการเล่นดนตรีของเด็กๆ โดยมองว่านี่คือความสามารถของพวกเขา และดนตรีมีค่า มิใช่มองว่ามาดูคอนเสิร์ตเพราะความสงสาร เนื่องจากครูต้นกล้วยและเด็กๆ เองตั้งใจฝึกซ้อมดนตรีเพื่อเดินทางไปสู่มาตรฐานระดับสากล

วันเวลาที่ผ่านไปสิ่งที่จะทำให้ชุมชนคลองเตยปรับเปลี่ยนคงไม่ใช่การจัดการทางด้านกายภาพเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนความคิดของผู้เป็นพ่อแม่ แม้เลือกเกิดในสถานที่ไม่ได้หากแต่สามารถเลือกและทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกหลานได้นั่นคือการศึกษา เพราะการศึกษาจะพาทุกคนก้าวไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ดนตรีเปลี่ยนชีวิต “อิมมานูเอล” โรงเรียนดนตรีคลาสสิกกลางชุมชนคลองเตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook