นายกฯเผยพระเจ้าอยู่หัวร.10ทรงราชย์สืบสานพระปณิธาน

นายกฯเผยพระเจ้าอยู่หัวร.10ทรงราชย์สืบสานพระปณิธาน

นายกฯเผยพระเจ้าอยู่หัวร.10ทรงราชย์สืบสานพระปณิธาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี เผย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงราชย์สืบสานพระบรมราชปณิธาน สานต่อ 'ศาสตร์พระราชา' เป็นมิ่งขวัญ ปชช. ขอร่วมอธิษฐานทรงพระเจริญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า กว่า 7 ศตวรรษ ที่ประเทศไทยมีเสถียรภาพและความมั่นคง ด้วยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัย กว่า 7 ทศวรรษ ที่คนไทยมีความสงบสุข ร่มเย็น ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยทรงตั้งมั่นใน "ทศพิธราชธรรม" เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามอย่างแท้จริง ตามที่พระองค์ ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานไว้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

บัดนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดเกล้าฯ สถาปนาและทรงสถิตอยู่ในพระราชสถานะองค์พระรัชทายาทมากว่า 44 ปี ทรงพระกรุณา "รับ" คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ เป็น "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เพื่อทรงสืบสานพระบรมราชปณิธาน และทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทในการสานต่อ "ศาสตร์พระราชา" ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้ยังคงอยู่ คู่แผ่นดินไทย สืบไป

ขอให้เราทุกคนจงร่วมกันตั้งจิตอธิษฐาน ขอพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ให้ ทรงพระเจริญ สถิตเป็นมิ่งขวัญปกเกล้าปกกระหม่อมอาณาประชาราษฎรชาวไทย รวมทั้งให้ทรงพัฒนาประเทศไทย ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จนประสบความสำเร็จ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง มีสันติสุข และความสามัคคีปรองดอง สมดังพระราชปณิธานปรารถนา ตราบกาลนานเทอญ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ใหม่ ทรงให้ความสำคัญกับด้านการศึกษา นับแต่ในอดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการ "โครงการทุนการศึกษา" ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทย โดยเฉพาะที่มีฐานะยากจน ลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคงต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งเป็น "มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" (หรือ ม.ท.ศ.) ขึ้น อีกทั้งทรงมีพระราชดำริ ให้กำหนดหลักเกณฑ์การพระราชทานทุนและวิธีการคัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง นักเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อรับทุนการศึกษาพระราชทาน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ตามความต้องการของผู้เรียน ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง กว่า 1,000 คน

ทั้งนี้ รัฐบาลนั้นได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนา "ศักยภาพทรัพยากรมนุษย์" และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ที่รองรับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ที่จะต้องมุ่งเน้นการสร้างจิตนาการ, การคิดวิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยนโยบายสำคัญส่วนหนึ่ง คือ "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งความหมายที่แท้จริงก็คือ การลดเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Passive คือเป็นผู้รับอย่างเดียวลง แล้วเพิ่มเวลาที่นักเรียนเรียนแบบ Active ให้มากขึ้น คือเป็นผู้ปฏิบัติเองเรียนรู้เองให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา โครงการในพระราชานุเคราะห์ และโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีมากมายหลายโครงการ ซึ่งนอกจากจะทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทแล้ว ยังเป็นการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปขยายผล ล้วนเป็นคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ อาทิ "โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่” ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อไว้ในเครื่องหมายตราสัญลักษณ์โครงการ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรหรือนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างแรงจูงใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการเกษตร

ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างองค์กรวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตร กับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ในการให้คำปรึกษาด้วยความรู้และบริการทางวิชาการใหม่ ๆ, การตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัย, รวมทั้งการให้บริการด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงเกษตรกรโดยตรง นับว่าสามารถตอบสนองทั้งความต้องการและทันต่อเหตุการณ์ด้วย ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ คลินิกพืช ช่วยแก้ปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช, วัชพืช, สารพิษตกค้าง, คลินิกดิน ช่วยวิเคราะห์และตรวจสอบดินและปุ๋ย, คลินิกสัตว์ ช่วยแก้ปัญหาโรคสัตว์, คลินิกประมง เผยแพร่องค์ความรู้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึง  คลินิกบัญชี, คลินิกชลประทาน และคลีนิกกฎหมาย เป็นต้น 



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook