อุดมยันรธน.มุ่งกลไกปฏิรูปปัดมัดมือเท้านักการเมือง

อุดมยันรธน.มุ่งกลไกปฏิรูปปัดมัดมือเท้านักการเมือง

อุดมยันรธน.มุ่งกลไกปฏิรูปปัดมัดมือเท้านักการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรธ. 'อุดม' ยืนยัน รธน.ใหม่ ต้องการให้อำนาจดิบอยู่ในแบบแผนทางการเมือง รับไม่ใช่ของวิเศษที่บันดาลทุกอย่าง ไม่ได้มัดมือ-เท้านักการเมือง ด้าน 'คำนูณ' มั่นใจหลังประกาศใช้ รธน.ใหม่ จะเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ รัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปประเทศ ในงานเสวนา เรื่อง "ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ นั้น ทาง กรธ. ต้องการให้อำนาจดิบอยู่ในแบบแผนทางการเมือง ทำให้เข้าสู่ระบบในการใช้เหตุผลมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมามีแรงกดดันจากภายนอก ทาง กรธ. จึงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดยรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และยึดหลักการตอบสนองความต้องการของสังคม ไม่ทำให้อำนาจเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา มีการใช้อำนาจอย่างเกินเลย จึงมีการร่างรัฐธรรมนูญอย่างเข้มงวด โดยให้มีกลไกอื่น ๆ มาตรวจสอบ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญคือ มีกลไกในหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนใช้ได้จริง เกิดระบบผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน มีกลไกกลั่นกรองผู้แทนของประชาชน เปิดเวทีให้กับความคิดเห็นที่แตกต่าง เกิดกลไกตรวจสอบภาครัฐที่ทีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ สร้างกลไกปฏิรูปบ้านเมืองให้เกิดขึ้นอย่างมีทิศทาง โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดความสำเร็จต่อไป ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ใช่ของวิเศษที่บันดาลทุกอย่าง และไม่ได้รองรับอำนาจใครคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้สังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็น ถึงแม้จะแก้ไขยาก แต่ไม่ได้คิดว่าจะมัดมือเท้านักการเมือง เพราะยังมีพื้นที่อีกมากในการทำประโยชน์ต่อบ้านเมือง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป (สปท.) กล่าวว่า ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนตัวเชื่อว่าจะเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบคาดไม่ถึงซึ่งในช่วงแรกอาจมีการผันผวนไม่แน่นอนบ้างแต่เชื่อว่าจะผ่านไปด้วยดี และพาประเทศไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยติดกับดักทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มาตลอดกว่า 10 ปี ส่วนตัวมองว่า หลักการของรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีความสำคัญสุด และแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาคือกลไกการปฏิรูปประเทศให้มีความต่อเนื่อง เพราะมีการวางกลไกดังกล่าวกำกับไว้ให้รัฐบาลต่อไปดำเนินการ และเชื่อว่าจะเห็นองค์กรขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มารับช่วงต่อจาก สปท. และแผนการปฏิรูปประเทศโดยต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในช่วง 6 ปี แรก ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2559 ปีประกาศใช้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และการปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนตามกฎหมายแผนและการปฏิรูปประเทศ

ขณะที่ นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า ส่วนตัวยืนยันว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งการปฏิรูปประเทศเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนที่อยากเห็นการปฏิรูปประเทศก่อนเหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค. 2557 แม้จะดำเนินการได้ยากแต่หากไม่ดำเนินการก็จะเกิดปัญหา ประชาชนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะการเตรียมการเข้าไปมีส่วนร่วมภายหลังที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ในเรื่องแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดำเนินการ ซึ่งถึงตอนนี้ส่วนตัวเชื่อว่า องค์กรภาคประชาชนต้องเตรียมการ เพราะหากไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้วการปฏิรูปประเทศ ก็จะไม่ส่งผลต่อประชาชนในแง่บวกได้


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook