น้ำตรังล้นตลิ่ง,วัดท่าจีนจม1.50เมตร-ลุ่มน้ำปากพนังวิกฤติ

น้ำตรังล้นตลิ่ง,วัดท่าจีนจม1.50เมตร-ลุ่มน้ำปากพนังวิกฤติ

น้ำตรังล้นตลิ่ง,วัดท่าจีนจม1.50เมตร-ลุ่มน้ำปากพนังวิกฤติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่น้ำตรัง ล้นตลิ่งเพิ่มสูงขึ้นวัดท่าจีนจมบาดาล 1.50 เมตร ขณะนี้ท่วม 8 อำเภอ ชาวบ้านเดือดร้อน 25,000 ครัวเรือน - พื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำปากพนังวิกฤติ หลายหมื่นคนเดือดร้อนหนัก

สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.ตรัง ยังท่วมหนักทั้ง 8 อำเภอ 60 ตำบล 5 เทศบาล 400 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 25,000 ครัวเรือน บริเวณที่ถูกน้ำท่วมหนักสุดคือ พื้นที่อำเภอเมืองตรัง ฝั่งตะวันตกติดแม่น้ำตรัง คือ ตำบลนาท่ามใต้ หนองตรุด นาตาล่วง บางรัก และตำบลควนปริง เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำจากแม่น้ำตรังก่อนที่จะไหลออกทะเลที่ปากน้ำกันตัง ที่วัดประสิทธิชัย หรือ วัดท่าจีน ระดับน้ำอยู่ที่ 1.50 เมตร จากเมื่อวานนี้ระดับน้ำแค่ 60 เซนติเมตร พระและสามเณร กว่า 100 รูป ต้องอาศัยในกุฏิ 5 ชั้น เดือดร้อน ไม่สามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้ตามปกติ ญาติโยมต้องนำอาหารมาถวาย โรงเรียนพระปริยัติธรรมก็ปิด ภายในกุฏิเจ้าอาวาส น้ำท่วมได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ระดับน้ำอยู่ที่ 50 เซนติเมตร

 

อ.หัวไทรยังจมบาดาลเร่งระบายน้ำ700ล้านลบม.

นายสุเมธ ช้างชนะ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง รักษาราชการนายอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า อำเภอหัวไทร เป็นพื้นที่ท้ายน้ำก่อนออกทะเล รับน้ำจาก อ.ชะอวด อ.เชียรใหญ่ และบางส่วนจากจังหวัดพัทลุง ออกสู่ทะเล ขณะนี้ได้รับผลกระทบเต็มพื้นที่ 11 ตำบล 99 หมู่บ้าน ประกอบไปด้วย ตำบล หัวไทร, หน้า สตน,ทรายขาว, แหลม, เขาพังไกร, บ้านราม, บางนบ, ท่าซอม, ควนชะลิก, รามแก้ว, เกาะเพชร โดยตำบลที่เดือดร้อนหนักจะเป็นพื้นที่ริมทะเล เช่น รามแก้ว, เขาพังไกร, แหลม, ควนชะลิก, บางนบ, ท่าซอม, เกาะเพชร ซึ่งประชากรทั้งหมดของอำเภอหัวไทร ประมาณ 80,000 กว่าคน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแล้วประมาณ 20,000-30,000 คน ส่วนความช่วยเหลือนนั้นทางฝ่ายปกครอง องค์กรท้องถิ่น ได้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านบางส่วนแล้ว ทั้งนี้ กรมอุตุฯ แจ้งเตือนพายุลูกใหม่ ในวันที่ 9 - 10 ธ.ค. ดังนั้น ทางอำเภอได้สนธิกำลังกับทางกรมชลประทาน จังหวัดนครศรีธรรมราช รีบพร่องน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ประมาณ 700 ล้านลูกบาศก์เมตร ให้ออกทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับฝนที่จะมาระลอกใหม่

 

เขตเทศบาลนครนครศรีฯน้ำลดเกือบปกติแล้ว

นายวานิช แก้วประจุ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช (ผคป.นครศรีธรรมราช) กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้ในพื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช หยุดตกลงแล้ว ทำให้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลงไปอย่างมาก ถนนหาทางเริ่มกลับมาสัญจรไปมาได้แล้วจะเหลือเพียงน้ำขังในซอยต่างๆ บ้างเล็กน้อย คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) จะกลับมาสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ทางชลประทาน ได้แสตนบายเครื่องสูบน้ำ และเครื่องสูบส่งระยะไกลไว้กว่า 10 เครื่อง พื่อรองรับสถานการณ์ฝนที่จะตกอีกครั้งในวันที่ 10  ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ด้าน ผศ.เชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้สั่งการให้ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนเจ้าที่เทศบาลในส่วนต่างๆ เร่งระดมออก เก็บกวาดขยะสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในเบื้องต้น ด้เร่งระดมกันเก็บขยะต่างๆ ที่ลอยมากับน้ำ ออกทำความสะอาดล้างถนน ในถนนที่น้ำลดแห้งสนิท เพื่อชำระล้างคราบโคลนต่างๆ เช็กท่อระบายน้ำเก็บขยะเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน เก็บเศษไม้ ถุงพลาสติกที่ปิดท่อระบายน้ำ ตะแกรงท่อตามถนนทุกสาย เพื่อเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด และจากนั้นจะเข้าไปตรวจสอบเร่งเก็บขยะทั่วเมือง เพื่อเร่งฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชให้กลับสู่ภาวะปกติ

 

ลุ่มน้ำปากพนังวิกฤติหลายหมื่นคนเดือดร้อนหนัก

ชาวบ้านในตำบลไสหมาก อำเภอเชียรใหญ่ และตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องนำวัวออกมาเลี้ยงบนผิวสายหูล่อง-ไสหมาก เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ถูกน้ำท่วมสูงและมีระดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เป็นพื้นที่รองรับน้ำจากตัวนครศรีธรรมราช ชั้นในหลายอำเภอโดยมวลน้ำได้มากองอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดย นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่ามีมวลน้ำค้างอยู่ในพื้นที่นครศรีธรรมราช มากกว่า 860 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องเร่งระบาย แต่มีข้อกังวลในขณะนี้แนวโน้มฝนที่กำลังจะเข้ามาเพิ่มในอีก 2-3 วัน ข้างหน้าขณะที่พื้นที่การเกษตรทั้งนาข้าว สวนปาล์ม สวนมะพร้าวอยู่ในสภาพกลายเป็นทะเลสาปขนาดใหญ่เต็มไปด้วยมวลน้ำที่ไหลมาจากตอนกลางของจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนในพื้นที่เองต้องเร่งการระบายน้ำในคลองไส้ไก่ ขณะที่โครงการลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กำลังเร่งระบายน้ำโดยการเปิดประตูน้ำสูงสุดทุกบาน เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำปากพนัง ขณะที่ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ สำนักชลประทานที่ 15 และคณะกรรมการบริหารจัดการประตูน้ำ ได้ส่างการให้เปิดประตูน้ำสูงสุดทั้ง 10 บาน เพื่อเร่งระบายมวลน้ำออกสู่อ่าวไทยให้มากที่สุดก่อนที่มวลน้ำระลอกใหม่จากฝนในอีก 2-3 วันข้างหน้าจะเข้ามาเพิ่มเติม

นายชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า อุทกภัยในพื้นที่ ทั้ง 23 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างความเสียหายให้กับชีวิต ทรัพย์สิน สุขภาพ เส้นทางคมนาคม อาคารบ้านเรือน พืชผลการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และทรัพย์สินอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบว่าครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัย 127,414 ครัวเรือน พื้นที่นาข้าวที่ประสบภัย 159,363 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 100,967 ไร่ พื้นที่พืชไร่ที่ประสบภัย 15,889 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 12,151 ไร่ และพืชสวนและอื่น ๆ ที่ประสบภัย 1,101,359 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 309,687 ไร่


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook