สำนักงานประกันสังคม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องปรับปรุงฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ครั้งที่ 3

สำนักงานประกันสังคม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องปรับปรุงฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ครั้งที่ 3

สำนักงานประกันสังคม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องปรับปรุงฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ครั้งที่ 3
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงานประกันสังคม จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องปรับปรุงฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบ ครั้งที่ 3

     เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นนายจ้าง/ผู้ประกันตน เรื่องการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ครั้งที่ 3 ว่า สำนักงานประกันสังคมได้เริ่มดำเนินการให้ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม แก่ลูกจ้างในสถานประกอบการมาตั้งแต่ปี 2533 และเริ่มจัดเก็บเงินสมทบ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2534 โดยค่าจ้างต่ำสุดและสูงสุดที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 และสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 ใช้ฐานเงินเดือน 4,800 บาท

     นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ตลอดเวลา 26 ปีที่ผ่านมา ฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณดังกล่าวไม่ได้มีการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและการดำรงชีพแต่อย่างใด เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของเงินทดแทนการขาดรายได้ รวมถึงเงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนจะได้รับในอนาคต ดังนั้นการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์สูงสุดจึงมีความจำเป็น สำนักงานประกันสังคมจึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาศึกษาวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม

     “ข้อสรุปจากเวทีรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ในภาพรวมเห็นด้วยกับการปรับฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณ เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนในระยะยาว ปัจจุบันเราใช้ฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาทคำนวณเงินบำนาญชราภาพ หากทำงานมาแล้ว 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญเดือนละ 3,000 บาท หรือถ้าทำงานมา 35 ปี ครบเกษียณจะได้บำนาญเดือนละ 7,500 บาท แต่ถ้าแก้กฎหมายปรับฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณเป็น 20,000 บาท กรณีทำงานมาแล้ว 15 ปีจะได้เงินบำนาญเดือนละ 4,000 บาท และถ้าทำงานมา 35 ปีครบเกษียณจะได้บำนาญเพิ่มเป็น 10,000 บาท ขณะเดียวกันในส่วนประโยชน์ทดแทนกรณีอื่น ๆ ก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยกตัวอย่างผลประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานค่าจ้างที่ใช้ในการคำนวณ ทั้งนี้เป็นคนละเรื่องกับอัตราเงินสมทบที่ส่งเข้ากองทุนประกันสังคม

     นายสุรเดช กล่าวด้วยว่า สำนักงานประกันสังคมจะจัดรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง คือ วันที่ 9 ธ.ค. ที่จังหวัดชลบุรี และวันที่ 13 ธ.ค. ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อได้ข้อสรุปทั้ง 5 เวทีจะมายกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อแก้ไข ทั้งนี้การปรับเพิ่มฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวนเงินสมทบในอนาคตอาจปรับเพิ่มทุก 5 ปี หรือช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีแนวทางการปรับฐานค่าจ้างนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามสภาพสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงให้กองทุนประกันสังคมนั้นมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ อาทิ การปรับปรุงเรื่องการลงทุน เป็นต้น



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook