มธ.จัดเสวนาปท.ไทยหลังพ.ร.บ.คอมฯ2559

มธ.จัดเสวนาปท.ไทยหลังพ.ร.บ.คอมฯ2559

มธ.จัดเสวนาปท.ไทยหลังพ.ร.บ.คอมฯ2559
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มธ. จัดเสวนา 'ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 - 'อังคณา' ตั้งคำถามจะมั่นใจได้อย่างไรการตรวจสอบจะเป็นธรรม

คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา "ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 " โดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชน ทั้งนี้ กฎหมายที่ผ่านไปนั้น ระบุไว้ว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเป็นการวินิจฉัยที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีคำว่า ความมั่นคงเข้าไปอยู่หลายคำ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตีความอย่างไร้ขอบเขต รวมถึงคำว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดีความสงบ อันเป็นคำที่มีความหมายกำกวม

สิ่งที่น่ากังวลนั้น คือ การใช้ดุลยพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างกว้างขวางไม่ใช่พิจารณาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดคือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะใช้ดุลยพินิจเพื่อปกป้องประชาชน ไม่ใช่การปกป้องอำนาจของรัฐเพียงอย่างเดียว

 

"ยิ่งชีพ"มองพ.ร.บ.คอมฯเขียนเพื่อปิดปากปชช.

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ต (iLaw) กล่าวในเสวนา "ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559" ที่ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2559 ในมาตรา 14 (1) ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิด โดยทุจริตหรือหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เป็นการเขียนเพื่อปิดปากประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากได้ยิน ซึ่งหากกระทำความผิดตามกฎหมายดังกล่าวนี้ หมายความว่าจะโดนทั้งคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 (1)

นอกจากนี้ใน ม.14 (2) ในวรรคที่ระบุว่า น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตระหนกแก่ประชาชนนั้นสามารถตีความได้กว้าง ซึ่งมีเงื่อนไขที่จำทำให้ตีความเป็นความผิดได้

 

"อรพิณ"มองพ.ร.บ.คอมฯจำกัดสิทธิปชช.

นางอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในเสวนา "ประเทศไทยหลัง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559" ที่ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  ประเทศไทยเคยมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าในปัจจุบัน หลังจากที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ออกมาทำให้สิทธิถูกจำกัดและเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มักถูกแก้ไขในรัฐบาลรัฐประหาร

นอกจากนี้ เมื่อก่อนสื่ออยู่ฝั่งเดียวกับประชาชน แต่ในปัจจุบันสื่อไม่สามารถแยกฝ่ายได้ สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ เรื่องการนำเสนอข้อมูลเท็จในมาตรา 14 โดยเฉพาะคำว่า ข้อมูลเท็จ ซึ่งจำเป็นหรือไม่ว่ากฎหมายต้องออกข้อบังคับ ในการเสนอข้อมูลเท็จหรือคำโกหก ซึ่งเมื่อมีคำว่า ข้อมูลเท็จนั้น ส่งผลต่อการใช้กฎหมาย ในการตรวจสอบข้อมูลอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ คนที่มีส่วนในการร่างอาจไม่ได้มองว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของสื่อ ซึ่งในฝั่งของประชาชนก็อดมองไม่ได้ว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ที่เห็นต่างหรือแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook