เมื่อคลื่นลูกที่ 4 พัดพาอำนาจเปลี่ยนจากสื่อเก่า ไปสู่มือมหาชน...!

เมื่อคลื่นลูกที่ 4 พัดพาอำนาจเปลี่ยนจากสื่อเก่า ไปสู่มือมหาชน...!

เมื่อคลื่นลูกที่ 4 พัดพาอำนาจเปลี่ยนจากสื่อเก่า ไปสู่มือมหาชน...!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในแวดวงสื่อสารมวลชน ไทยเป็นที่จับตาขึ้นมาอีกครั้ง มีการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งว่า สื่อเก่า ที่ทรงอิทธิพลในยุคศตวรรษ หรือ รอบ100 ปี ที่ผ่านมา จะเดินทางไปสู่รูปแบบใด เมื่อ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ได้ประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2559 นี้สิ้นสุดลง

ก่อนหน้านี้คนในแวดวงสื่อ ได้รับทราบดีว่า สื่อที่ทรงอิทธิพลอย่าง สื่อสิ่งพิมพ์ ทยอยปิดตัวลงมากมายหลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อในรูปแบบนิตยสาร แม้กระทั้ง นิตยสารที่นำเสนอรูปภาพสรีระของผู้หญิง ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้คนได้หลากหลายที่สุด ยังเดินหน้าต่อไปไม่ไหว

แต่สำหรับสื่อ อย่างหนังสือพิมพ์ ต้องบอกว่า การปิดตัวของหนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นฉบับแรกในรอบหลายปี ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมทางสังคม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ผลกระทบจาก โลกยุคใหม่ยุคดิจิตอลโดยตรง

แน่นอนว่า การอยู่รอดของ สื่อ ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทหนึ่ง ปัจจัยหลักคือ รายได้ ทั้งจากยอดขาย และรายได้หลักจากค่าโฆษณาบนสื่อ จากการสำรวจทางการตลาด เป็นที่ชัดเจนว่า เม็ดเงินค่าโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลัก มีการย้ายจากสื่อเก่า สื่อสิ่งพิมพ์ไปสู่สื่อสมัยใหม่มากขึ้น ๆ

เจ้าของผลิตภัณฑ์มีการเลือกสื่อ เฉพาะเจาะจงมากขึ้น หมายถึง มีการเลือกหัวหนังสือพิมพ์ที่จะลงโฆษณาที่เขาเห็นว่าคุ้มค่าที่สุด ไม่ได้มีการหว่านแหไปทั่วเหมือนยุคเก่าก่อน ดังนั้น สื่อหนังสือพิมพ์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของคนในสังคมเปลี่ยนไปมาก อ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง เสพสื่อออนไลน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จึงต้องเผชิญปัญหารายได้หด เป็นปัญหาในเชิงธุรกิจ ที่ร้ายแรงที่สุด

สิ่งเหล่านี้ บรรดาผู้บริหารองค์กรสื่อ ต่างรู้ดีถึง คลื่นของความเปลี่ยนแปลง และ พยายามปรับตัวปรับทิศปรับทางกันมาตลอดในระยะหลายปีมานี้ ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนต่างๆ แม้กระทั้งลดพนักงาน เพื่อประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ซึ่งอนาคต สื่อหนังสือพิมพ์ยังจะยืนหยัดอยู่ได้มากน้อยเพียงใด จะเหลือหนังสือพิมพ์กี่ฉบับ เป็นที่น่าจับตายิ่ง

นอกจากการปรับตัวในเรื่องของต้นทุนแล้ว การเปลี่ยนรูปแบบของสื่อ ไปสู่สื่อออนไลน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นแนวทางที่ทุกค่ายพยายามปรับตัว หันมาเน้นในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ที่ชัดเจน ก็คือ ค่ายประชาชื่น ที่ตั้งเป้าหมายประกาศตัวว่า จะเป็นผู้นำในสื่อออนไลน์ของประเทศให้ได้ โดยผลักดัน สื่อในค่าย อย่าง”ข่าวสด” ปูทางทะลุทะลวงเป็นทัพหน้า จนฝ่าขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆของสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน

เช่นเดียวกัน ทุกค่ายทุกสำนัก ต่างปรับตัวมาในทิศทางเดียวกันนี้ หันสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ส่วนจะมีกี่รูปแบบ จะก้าวล้ำไปถึงไหนเป็นเรื่องที่น่าจับตาทั้งสิ้น แต่พอจะเห็นทิศทางได้ว่า อนาคตอันใกล้ สงครามใน สื่อออนไลน์น่าจะดุเดือดมากขึ้น เมื่อสื่อหลัก หันมาลงสนามนี้มากขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม กระแสการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสื่อ ในครั้ง มีมุมมองที่น่าสนใจประการหนึ่ง ในเชิงสังคม ที่น่าแลกเปลี่ยน ก็คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสื่อ ที่เกิดขึ้นเพราะแรงผลักของคลื่นความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ก้าวหน้าไปสู่สังคมของโลกดิจิตอลมากขึ้น หรือ ที่เรียกกันว่าสังคมคลื่นลูกที่ 4 นี้
ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ อำนาจ หรือ อิทธิพล ของสื่อไปด้วย

ในยุค 100 ปีที่ผ่านมา บทบาทของสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อสิ่งพิมพ์ ถือว่ามีอิทธิพล ต่อสังคมมาก นักหนังสือพิมพ์ นักข่าวถือว่าเป็นบุคคลที่มีอภิสิทธิ์ ในทางสังคมระดับหนึ่ง เป็นฐานันดรที่ 4 การชี้นำประเด็นต่อสังคมในเรื่องต่างๆ สื่อสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลอย่างยิ่ง

ภาพของนักการเมือง นักธุรกิจ ต่างเอาอกเอาใจไม่กล้าขัดใจสื่อสิ่งพิมพ์เป็นเรื่องปรกติ เรียกได้ว่าในยุคหนึ่งหากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ลงมือขุดข่าวนักการเมืองคนใดคนหนึ่งทำผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วละก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมาก ด้วยจรรยาบรรณ ด้วยการนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นที่มวลชนมีต่อสื่อ นั้นหนักแน่น เรียกว่า นักการเมืองคนนั้นไม่ได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียว หรือ ไม่ก็ต้องใช้พลังมากเป็นพิเศษทีเดียวเพื่อจะแก้ภาพลักษณ์เหล่านั้นได้

ปัจจุบัน เมื่อ เคลื่อนของโลกสมัยใหม่พัดโถมมาด้วยความรวดเร็ว เครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย โลกของอินเตอร์เน็ต โลกของโซเชียล ที่เชื่อมคนทั้งสังคมเกือบทั้งหมดเข้าด้วยกัน คนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างง่ายดายผ่านสมาร์ทโฟน ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา ทำให้คนทั่วไปสามารถจะสื่อสาร ส่งสารไปยังสังคมโลกโซเชียลได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว และสามารถกระจายสารได้อย่างรวดเร็ว และ จนปัจจุบันถึงขั้นสามารถส่งสารแบบเรียลไทม์ หรือแบบทันทีทันใด

สิ่งเหล่านี้ ทำให้ คนทั่วไป มวลชนทั่วไป มีอำนาจการสื่อ มีอำนาจการส่งสารเป็นของตัวเอง มีเครื่องมือ มีพื้นที่ของโลกในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่มีความกว้างขวาง มีข้อจำกัดน้อยมาก นอกจากนี้ มวลชนเหล่านี้ยังสามารถสื่อสารแบบสองทาง สามารถโต้ตอบ ได้อย่างทันท่วงที และ บางคนยังสามารถสร้างสังคมเฉพาะกลุ่มหรือสร้างแฟนคลับของตัวเองได้ โดยมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมเหล่านี้ ทำให้อำนาจในการกำหนดประเด็นทางสังคมของสื่อเก่าที่ทรงอิทธิพลอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีข้อจำกัด ในเรื่องการเข้าถึง เริ่มถูกถ่ายอำนาจไปสู่มวลชน ไปสู่มหาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน เราเห็นสื่อหลัก ไม่ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ หรือ สื่อทีวี หรือแม้แต่นักจัดรายการวิทยุ ต่างวิ่งตามประเด็นตามกระแสในโลกโซเซียลกันขนานใหญ่.....

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ น่าสนใจยิ่งว่าจะส่งผลต่ออนาคตอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคลื่นลูกที่ 4 พัดพาอำนาจเปลี่ยนจากสื่อเก่า ไปสู่มือมหาชน จะส่งผลต่อวงการสื่ออย่างไร....น่าติดตามยิ่ง ......

โดย เปลวไฟน้อย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook