ชาญชัยร้องรบ.เร่งบังคับใช้กฎหมายป.ป.ช.

ชาญชัยร้องรบ.เร่งบังคับใช้กฎหมายป.ป.ช.

ชาญชัยร้องรบ.เร่งบังคับใช้กฎหมายป.ป.ช.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'ชาญชัย อิสระเสนารักษ์' ร้องรัฐบาล เร่งบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103-4 และ 103/5 ป้องกันการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมทุจริต จี้ หน่วยงานรัฐจัดการ AIS ตามคำสั่งศาล

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่าจากที่ตนเคยเรียกร้องให้รัฐบาล และ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 103-4 และ 103/5 ในกรณีที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมทุจริต ทำผิดกฎหมายหรือทำให้รัฐได้รับความเสียหายต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง เช่น กรณีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่พบเห็นผู้บริหารหรืออธิการบดีทุจริต ใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ทำให้รัฐเสียหาย แต่กลับถูกต่อสัญญาจ้าง โดยอ้างเหตุว่าทำให้มหาวิทยาลัยนั้น ๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง กลายเป็นว่าคนร้องเหตุทุจริตกลับถูกรังแกจนตกงาน ทั้งที่มีกฎหมายบังคับใช้อยู่แล้วในการปกป้องคนกล้า จึงขอให้รัฐบาล และ ป.ป.ช. เร่งบังคับใช้กฎหมายนี้ และเมื่อมีการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ขอให้บัญญัติเรื่องเหล่านี้ไปในกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ให้มีผลบังคับใช้ด้วย

นายชาญชัย ยังกล่าวถึงกรณีการไม่บังคับใช้กฎหมายในเรื่องสำคัญ คือ การที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาคดีที่ อ.1/2553 ที่ศาลมีคำพิพากษา ว่า มีการแก้ไขสัญญาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน รวม 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 88,359 ล้านบาท ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขสัญญาครั้งนั้น คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และยังมีการแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต โดยให้เอไอเอส นำเงินค่าภาษีมาหักออกจากเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าสัมปทานอีกจำนวน 36,000 ล้านบาท รวมสองรายการเป็นเงิน 125,000 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้จะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินคดีถึงที่สุดแล้ว แต่หน่วยงานราชการของรัฐ ซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย กลับยังไม่มีการอายัดหรือยึดทรัพย์ดังกล่าวให้ตกเป็นของรัฐจริงแต่อย่างใด แม้ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย จะสั่งกำชับให้กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต และ ทีโอที ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของรัฐที่สูญเสียผลประโยชน์ ติดตามหาตัวข้าราชการหรือกลุ่มคณะบุคคลที่ทำผิด ละเว้นไม่ทำตามคำพิพากษาศาล จึงขอถามว่าหน่วยงานรัฐนี้ ปล่อยปละละเลยให้เงิน 1.25 แสนล้านบาท ยังอยู่ในมือของบริษัทเอกชนมานานถึง 7 ปี ได้อย่างไร ทั้งที่มีคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินคดีถึงที่สุดแล้ว


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook