วิษณุยันรบ.ยึดโรดแมปเดิม-ปี62ไม่มีรถตู้สาธารณะ

วิษณุยันรบ.ยึดโรดแมปเดิม-ปี62ไม่มีรถตู้สาธารณะ

วิษณุยันรบ.ยึดโรดแมปเดิม-ปี62ไม่มีรถตู้สาธารณะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองนายกฯ 'วิษณุ' ยัน รัฐบาลยึดโรดแมปเดิม จี้ กรธ. แจงกฎหมายลูก ชี้ ปี 62 ไม่มีรถตู้สาธารณะ เตรียมออก มาตรา 44 เอาผิดผู้ขับรถโดยสารสาธารณะและผู้ประกอบการ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ถึงกรณีที่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ออกมาระบุว่า การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปถึงปี 2561 โดยยืนยันว่า รัฐบาลยังคงเดินตามโรดแมปเดิมทั้งหมด ซึ่งตามโรดแมปสามารถมองได้สองแบบ คือ ตามลำดับขั้นตอน และตามช่วงเวลา โดยจะเริ่มต้นจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะดำเนินการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูก 10 ฉบับ  ภายใน 240 วัน และส่งให้ สนช. พิจารณา ภายใน 2 เดือน หากมีการแก้ไข ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาอีก 1 เดือน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และมีเวลาลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน โดยจะสามารถจัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 5 เดือน 

พร้อมยังได้ชี้แจงถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง ภายในปี 2560 ว่า เป็นการตั้งสมมุติฐานของขั้นตอนทั้งหมด แต่ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาระบุว่า อาจจะร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูก 4 ฉบับ ไม่ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ว่า ขณะนี้ กรธ. ได้ร่างกฎหมายลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ พ.ร.ป คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเหลือเพียง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.การสรรหา ส.ว. ที่ควรจะร่างกฎหมายได้เร็ว เพราะฉะนั้น กรธ. จะต้องออกชี้แจงถึงเหตุผลว่าทำไมถึงร่างกฎหมายดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด จนทำให้เกิดข้อสงสัย

ส่วนกรณีที่มีกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อโรดแมปนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สนช. จะต้องบริหารจัดการกันเอง เพราะได้มีการเพิ่มบุคลากรให้แล้ว

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการใช้คำสั่งมาตรา 44 เพิ่มโทษ และออกกฎหมายเอาผิดกับผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ และผู้ประกอบการ ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ว่า จะมีการพิจารณาออกกฎหมาย บังคับใช้อยู่แล้ว โดยมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.จราจร ซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่อาจล่าช้า เพราะติดขั้นตอนที่ต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงจะมีการออกคำสั่งมาตรา 44 เกี่ยวกับมาตรการเร่งรัดแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจราจร ภายใน 7 วัน ในเรื่องการใช้รถ สภาพรถ ความเร็ว คุณภาพผู้ขับขี่ วินัยจราจร และกำหนดโทษ รวมถึงกำหนดให้ติตตั้ง GPS และติดกล้อง CCTV และมีสมุดบันทึกเวลาเดินรถเหมือนในต่างประเทศ โดยตำรวจมีอำนาจตรวจสมุดพกและกำหนดความเร็วอยู่ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วในการเร่งแซงไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ จะไม่มีการออกหรือต่อใบอนุญาตให้กับรถตู้โดยสารสาธารณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนรถตู้ที่ใช้อยู่ปัจจุบันจะให้หมดไปภายในปี 2562 ส่วนจะนำรถชนิดใดมาใช้แทนรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณา 

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีนักโทษที่พ้นโทษออกมาแล้วก่อเหตุซ้ำ อย่างกรณีฆ่าชิงทรัพย์ ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเสมอ แต่จะโทษว่าเป็นเพราะปล่อยตัวออกมาไม่ได้ ซึ่งเมื่อคนทำผิดก็ตอบยาก ต้องไปดูสาเหตุความผิด เช่น ติดนิสัยหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะไม่ปล่อยตัวคงไม่ได้ แต่เมื่อคนเหล่านี้ทำผิดอีก การปล่อยตัวอีกคงยาก เพราะไม่ใช่นักโทษชั้นดี เช่นเดียวกับกฎหมายจราจร ถ้าไม่แก้จะต้องรับโทษเป็นสองเท่า แต่เชื่อว่าสาเหตุจริง ๆ นั้น ไม่ใช่ความยากจน แต่เป็นเรื่องของกิเลสตัณหา อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการปล่อยตัวนักโทษออกมากว่า 3 หมื่นคน แล้วนั้น ยังไม่ทราบว่าคนเหล่านี้จะไปอยู่ไหน แต่ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงานดูแลเรื่องนี้แล้ว 

ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ใช้ มาตรา 44 กับคนทำผิดซ้ำซากนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า มาตรา 44 ไม่ได้ใช้สำหรับลงโทษประหารชีวิตหรือทำร้ายใคร แต่ใช้ในการจัดระเบียบสังคมในภาพรวมหรือเป็นหลักการเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ให้เป็นตามกระบวนการยุติธรรมปกติ


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook