8จว.ใต้ยังท่วม-มท.1สั่งรับมือฝนระลอกใหม่16-18ม.ค.

8จว.ใต้ยังท่วม-มท.1สั่งรับมือฝนระลอกใหม่16-18ม.ค.

8จว.ใต้ยังท่วม-มท.1สั่งรับมือฝนระลอกใหม่16-18ม.ค.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปภ. ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสรรพกำลังและทรัพยากร ช่วยเหลือเตือน 14-19 มค.ภาคใต้ฝนเพิ่ม ขณะที่ รมว.มหาดไทย กำชับทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ 15 - 16 ม.ค. นี้

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ภาพรวมในปัจจุบันระดับน้ำลดลงทุกจังหวัดแล้ว โดยยังเหลือพื้นที่น้ำท่วมใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 76 อำเภอ 455 ตำบล 3,672 หมู่บ้าน ซึ่งทาง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นอย่างเต็มที่ รวมถึงดำเนินการซ่อมแซมถนนและสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว 

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฝนตกในภาคใต้ลดลง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 14 - 19 ม.ค. นี้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตอนเพิ่มขึ้น และคลื่นลมมีกำลังแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเตรียมพร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที


มท.1สั่งรับมือฝนระลอกใหม่15-16ม.ค.

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวก่อนการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้เกี่ยวข้อง เข้าถวายรายงานเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยทรงมีรับสั่งให้ดูแลประชาชนที่เดือดร้อนโดยรวดเร็ว และให้นำแนวทางพระราชดำริเรื่องการบริหารจัดการน้ำของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้ เพื่อแสดงให้เห็นความสามัคคีของคนไทย และรับสั่งให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ร่วมดูแลประชาชน และพระราชทานให้องคมนตรีเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพื่อกลับไปถวายรายงานให้ทรงมีข้อมูล และพระราชทานแนวทางช่วยเหลือได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน พล.อ.อนุพงษ์ ระบุว่า ระบบเตือนภัยที่มีอยู่เดิมนั้น มีประสิทธิภาพ เพราะเห็นได้จากไม่มีผู้เสียชีวิตจากน้ำไหลหลากแต่ผู้ที่เสียชีวิตเกิดขึ้นนอกที่พักอาศัย อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่หลักในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ด้วยการสื่อสารกับประชาชน พร้อมกันนี้ ยังได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ได้เตรียมพร้อมรับมือฝนระลอกใหม่ในช่วงวันที่ 15 - 16 มกราคมนี้ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ใดจะมีฝนตกหนัก แต่จากการติดตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า จะมีมรสุมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างด้วย


อุตุฯเตือนฉ.1วันที่16-18ม.ค.ใต้ฝนตกหนัก

ในวันที่ 15 มกราคม 2560 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และในช่วงวันที่ 16 - 18 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และในพื้นที่เสี่ยงขอให้เฝ้าระวังดินโคลนถล่ม และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาในระยะนี้อย่างใกล้ชิด

ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กงดออกจากฝั่งไว้ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 11.00 น.

กรมอตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 11.00 น.


น้ำท่วมสุราษฎร์ฯขยายวงกว้างปชช.เดือดร้อน

สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งใน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ยังน่าเป็นห่วง ประชาชนหลายพื้นที่เร่งย้ายของต่อเนื่อง เช่น ที่บ้านคุ้งยาง ม.7 ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน ซึ่งถูกน้ำจากแม่น้ำตาปีล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ระดับน้ำเข้าท่วมบ้านเรือน 1 - 2 เมตร ประชาชนต้องขนย้ายข้าวของ ไปอยู่ในที่สูง และใช้เรือเดินทางเข้าออกพื้นที่ แทนรถยนต์และจักรยานยนต์ 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เข้าให้การช่วยเหลือเบื้องต้น ส่วนเรือผลักดันน้ำ 13 ลำ ยังคงดำเนินการเดินเครื่องผลักดันน้ำจากบริเวณ ใต้สะพานจุลจอมเกล้า เทศบาลเมืองท่าข้าม อ.พุนพิน เพื่อช่วยเร่งการไหลของน้ำในแม่น้ำตาปี ให้ระบายออกสู่ทะเล ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดจำนวนวันของน้ำที่จะท่วมขังให้ลดน้อยลง 

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ที่ อ.พระแสง ซึ่งเป็นอำเภอต้นน้ำ ที่รับน้ำจาก จ.นครศรีธรรมราช และ จ.กระบี่ นั้น ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ แต่ระดับน้ำเริ่มลดลง แล้วมาท่วมในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร อ.บ้านนาเดิม และ อ.พุนพิน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำตาปีตอนล่าง รับน้ำต่อจาก อ.พระแสง ก่อนที่มวลน้ำจำนวนมากจะไหลออกสู่ทะเล ที่อ่าวบ้านดอนในเขต อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ต่อไป


เทศบาลตำบลเคียนซายังอ่วมหนักจม1.5ม.

ว่าที่ร.ต.ภิญโญ วัชระสวัสดิ์ ปลัดเทศบาลตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สถานการณ์อุทกภัยยังคงหนักมาก เริ่มท่วมมาตั้งแต่ต่วันที่ 9 มกราคมแล้ว ขณะนี้น้ำยังคงท่วมสูงกว่า 1 เมตร 50 ซ.ม. ส่วนบนถนนระดับ 70-80 ซ.ม. ทำให้การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นยานหาหนะ จากการสำรวจพบว่ามีประชากรจาก 4 ชุมชน ที่เดือดร้อนประมาณ 110 ครัวเรือน กว่า 400 คน ต้องอพยพหลายครอบครัวมาอยู่บนที่สูง กระแสน้ำยังเชี่ยวกราก เพราะในพื้นที่เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำตาปี รับน้ำมาจาก อ. พระแสง และจะไปที่อ.พุนพิน ซึ่งที่ผ่านมาการระบายน้ำเป็นไปได้อย่างช้ามาก อย่างวันนี้ (13 ม.ค.) น้ำลดลงจากเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) เพียงแค่ 5 ซ.ม. เท่านั้น ดังนั้นจึงคาดว่าอาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำว่า 4-5 วัน น้ำถึงจะระบายออกนอกพื้นที่ได้ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ มีการช่วยเหลือเบื้องต้น ในเรื่องอาหารการกิน ที่พักพิงหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแล เรื่อง ยารักษาโรคและเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วถึงจะเข้าไปสำรวจความเสียหายในเรื่องของเกษตร (ปาล์ม) หรือประมงที่เสียหายอย่างหนัก




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook