ตรังน้ำยังท่วม2อ. ชาวบ้านนอนถนน-พัทลุงเฝ้าระวังฝนซ้ำ

ตรังน้ำยังท่วม2อ. ชาวบ้านนอนถนน-พัทลุงเฝ้าระวังฝนซ้ำ

ตรังน้ำยังท่วม2อ. ชาวบ้านนอนถนน-พัทลุงเฝ้าระวังฝนซ้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

น้ำยังท่วม 2 อำเภอริมแม่น้ำตรัง ขณะผู้ประสบภัยวอนรัฐบาลสนับสนุนเงินเยียวยาช่วยเหลือ ขณะที่ จ.พัทลุง น้ำยังท่วมขัง 3 อำเภอ คาด 2 - 3 สัปดาห์กลับสู่ภาวะปกติ ห่วงพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา

สถานการณ์น้ำท่วมในจ.ตรัง ขณะนี้พบว่าที่ อ.เมือง เขต ต.หนองตรุด, นาตาล่วง, บางรัก, ต.ควนปริง และ ต.ควนธานี ใน อ.กันตัง ยังประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะภูมิประเทศตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำตรัง ซึ่งถือเป็นจุดรองรับน้ำขนาดใหญ่ก่อนไหลออกสู่ทะเลที่ปากน้ำกันตัง 

ด้าน นายประภาส สั้นเต้ง ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ควนปริง กล่าวว่า ตนประสบปัญหาน้ำท่วมขังมานากว่า 10 วันแล้ว ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่มีเงินจ่ายใช้ แต่โชคดีที่มีผู้บริจาคสิ่งของเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง และน้ำดื่มให้ได้รับประทานประทังชีวิตในแต่ละมื้อ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยผู้ประสบภัยเป็นเงินเพื่อที่ตนจะได้สามารถนำไปใช้จ่ายในครัวเรือนได้เนื่องจากตนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อีกทั้งทรัพย์สินภายในบ้านก็เสียหายเกือบหมด ขณะนี้ยังต้องอาศัยนอนในเต็นท์บนถนนเพราะน้ำยังท่วมบ้าน


พัทลุงน้ำยังท่วม3อำเภอ - เฝ้าระวังฝนซ้ำ

นายสุรศักดิ์ คันธา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพัทลุง สำนักงานชลประทานที่ 16 เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขังภายในจ.พัทลุง ขณะนี้ยังคงเหลือพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ควนขนุน, เมือง และ ปากพะยูน บางส่วน ได้รับผลกระทบ จากมวลน้ำที่สะสมอยู่ ล่าสุดพบมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในเวลา 2 - 3 สัปดาห์ ระดับน้ำจึงจะลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศแจ้งเตือนว่า ช่วงวันที่ 16 - 20 ม.ค. 60 จะมีฝนตกลงมาอีกระลอกนั้น ขณะนี้พบว่าภายในจังหวัดยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะปริมาณฝนมีน้อย แต่หากฝนตกในปริมาณมากกว่า 100 มิลลิเมตร ก็คาดว่าจะทำให้เกิดมวลน้ำสะสมบริเวณริมทะเลสาบเพิ่มเติม จนยืดระยะเวลาของปัญหาออกไป 

อย่างไรก็ตาม นายสุรศักดิ์ ระบุว่า สำหรับจังหวัดพัทลุง มีจุดที่น่าเป็นกังวลส่วนใหญ่คืออำเภอริมทะเลสาบสงขลา 5 อำเภอ คือ อ.ควนขนุน, เมือง, เขาชัยสน, บางแก้วและ ปากพะยูน เนื่องจาก เป็นจุดรองรับน้ำจากอำเภอทางตอนเหนือแถบเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเมื่อน้ำไหลมารวมกันก็จะทำให้กองสะสมในพื้นที่ดังกล่าว 



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook