กห.สรุป14พรรคมองโครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา

กห.สรุป14พรรคมองโครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา

กห.สรุป14พรรคมองโครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โฆษก กห. สรุปผลพูดคุยปรองดอง 14 พรรค ราบรื่น มองโครงสร้างทางการเมืองมีปัญหา ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ - กฎหมาย ย้ำ พท. ตอบรับร่วมปรองดองแล้ว

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงผลการพูดคุยกับ 14 พรรคการเมือง ระบุว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเป็นกันเองและสงบเรียบร้อย มีการให้ความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ เป็นเสียงสะท้อนจากพรรคเล็กที่ต้องการเข้าสู่การเมือง แต่ยังขาดโอกาส โดยมองว่าโครงสร้างทางการเมืองของไทย มีปัญหา จากการไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกฎหมาย พร้อมมองว่าโครงสร้างทางการเมืองของไทยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ พรรคการเมืองใหม่ พรรคการเมืองเก่า กลุ่มประชาชน องค์กรอิสระ และกลุ่มทุนธุรกิจทางการเมือง 

โดยระบุว่าในส่วนของประชาชน มีพื้นฐานความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทั้งการศึกษา การเข้าถึงสาธารณสุข การเข้าถึงแหล่งทุน ทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันและการดำรงชีวิต

นอกจากนี้ พล.ต.คงชีพ เปิดเผยว่า จากการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก เห็นตรงกันว่า ปัญหาการสูญเสียผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองเก่า และการได้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองใหม่ เป็น
รอยต่อที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง จนพยายามกลไกทางกฎหมาย แทรกแซงองค์กรอิสระ นำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ในส่วนขององค์กรอิสระ ไม่สามารถวางตัวใหัเป็นกลาง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับการมีกลุ่มทุนเข้ามาสนับสนุนทางการเมืองเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ 

ดังนั้น การปฏิรูปจึงต้องทำไปพร้อม ๆ กัน โดยพรรคการเมืองจะต้องคัดคนที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือมาเป็นทางเลือกให้ประชาชน ไม่ทำการเมืองเชิงธุรกิจ ผูกขาดอำนาจไว้กับตัวบุคคล ส่วนรัฐต้องคืนความเป็นธรรมให้สังคมทั้งในเรื่องของการศึกษา การเข้าถึงระบบสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ และสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ 

พล.ต.คงชีพ ยังเปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยกับคณะอนุกรรมการรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองแล้ว ส่วนการทางพรรคระบุว่า พร้อมที่จะเข้าให้ข้อมูลในวันที่ 8 มี.ค. นั้น ทางโฆษกชี้แจงว่า ขอให้ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเป็นผู้กำหนดวันและประสานกับทางพรรคเอง เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดลำดับ

ส่วนกรณี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ขอเข้าชี้แจงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั้น ขอให้ใช้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มีช่องทางอยู่แล้ว ทั้งเวทีระดับท้องถิ่นในทุกจังหวัดและเวทีส่วนกลางจะดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ ในช่วงบ่ายจะเชิญพรรคกสิกร พรรคเพื่อประชาชนไทย และพรรคเพื่อฟ้าดิน เข้าให้ข้อมูล ส่วนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะเชิญพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรครักท้องถิ่นไทย และพรรคไทยรักธรรม เข้าให้ข้อมูล

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 4 ชุด จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง จะเปิดรับฟังความคิดเห็นเสียงของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่มีการกำหนดกรอบการพูดคุย จึงขอความร่วมมือช่วยทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองเดินหน้าต่อไป อย่าสร้างเงื่อนไข และขอให้ทุกฝ่ายใช้ความระมัดระวังและดุลยพินิจในการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อรวมถึงไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ข้อคิดเห็นของพรรคการเมืองอื่น ไม่ให้เกิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการคาดหวังของประชาชน 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook