วิชาแนะเขียนข้อบังคับกม.จัดซื้อจัดจ้างชัดเจน

วิชาแนะเขียนข้อบังคับกม.จัดซื้อจัดจ้างชัดเจน

วิชาแนะเขียนข้อบังคับกม.จัดซื้อจัดจ้างชัดเจน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'วิชา มหาคุณ' แนะเขียนข้อบังคับกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างให้ชัดเจน ชี้ ประชาชน กดดันเผยข้อมูล ลาประชุม 7สนช. ให้เกิดโปร่งใสได้ - เตรียมจัดเสวนาต่อต้านทุจริต 13 มี.ค.นี้

นายวิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต และอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ...ว่า ถือเป็นความกล้าในการออกกฎหมายฉบับนี้เพราะต้องปฏิบัติอย่างจริงจังจึงจะเกิดผล รวมถึงต้องมีผู้สังเกตการณ์ในระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยทำสัญญาคุณธรรม ระหว่างหน่วยงานกับผู้เข้าประมูลงานว่าจะไม่มีการทุจริต หรือจ่ายใต้โต๊ะ เป็นต้น หากตรวจสอบพบมีการทุจริตผู้เข้ารับประมูลงานนั้นจะติดแบล็คลิส และถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องถูกปลดออกจากราชการ ซึ่งการทำสัญญาคุณธรรมนี้หลายประเทศประสบผลสำเร็จในการแก้ไขการทุจริต 

ส่วนจะชี้วัดว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยปราบปรามการทุจริตได้หรือไม่นั้น นายวิชา กล่าวว่า จะต้องเขียนข้อบังคับให้ชัดเจน และใช้ระบบสัญญาคุณธรรมเข้ามาช่วยโดยมีผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐร่วมสังเกตการณ์

พร้อมกันนี้ นายวิชา กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 7 คน ขาดการประชุม 394 ครั้ง จากทั้ง 400 ครั้ง ว่า กรณีนี้น่าจะเข้าข่ายความผิดทางจริธรรม และจรรยาบรรณมากกว่า ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่ สนช.จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่หากมองในแง่ที่ สมาชิก สนช. รับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชนก็เป็นอีกประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการทุจริตต่อหน้าที่ ความผิด ตาม ม.157 ของประมวลกฎหมายอาญา ส่วนกรณีจะเข้าข่ายอำนาจหน้าที่ที่ ป.ป.ช. จะเข้าไปตรวจสอบได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ยื่นร้องเรียนว่าเป็นความผิดประเภทใด 

ขณะที่ การเรียกร้องเปิดเผยข้อมูลการลาการประชุมของ สนช. ทั้ง 7 คนนั้น นายวิชา มองว่า การกดดันและตรวจสอบจากภาคประชาชนก็เป็นอีกกำลังหนึ่งในการผลักดันในการเกิดความโปร่งใสในการตรวจสอบ และป้องกันไม่ให้มีการเอื้อผลประโยชน์ในองค์กร

นอกจากนี้ นายวิชา ยังกล่าวว่า การจัดงานประชาสัมพันธ์มูลนิธิต่อต้านการทุจริตในวันนี้ เพื่อชี้แจงความคืบหน้าของโครงการต่างๆที่มูลนิธิจัดขึ้น โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตร่วมกับสถาบันการศึกษา องค์กร และมูลนิธิกว่า 40 แห่ง โดยจัดทำปีละ 5 ครั้ง รวมถึงการจัดงานเสวนาวิชาการ ,โครงการค่ายวัยใสปีละ 5 รุ่น ครั้งละ. 100 คน เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชน และจัดทำโครงการหมู่บ้านช่อสะอาด ที่ตั้งเป้าว่าจะดำเนินการทั่วประเทศ 76 จังหวัดภายใน 3 ปี โดยปีนี้จะดำเนินการให้ได้ 25 จังหวัด 25 หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการหมู่บ้านตามระบบธรรมาภิบาลดด้วยการดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และต้องรักษาสภาพแวดล้อม ไม่บุกรุกป่า ปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น ป.ป.ช.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง ทั้งนี้ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ มูลนิธิต่อต้านการทุจริตจะดำเนินการจัดงานเสวนา โดยเชิญตัวแทนหมู่บ้านจาก 25 จังหวัด 25 หมู่บ้าน เพื่อระดมความคิดว่าจะทำให้เป็นหมู่บ้านช่อสะอาดได้อย่างไร


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook