รัฐรีดภาษี “Facebook” พ่วง 5 เว็บยักษ์ ไม่จ่ายปิดทันที!

รัฐรีดภาษี “Facebook” พ่วง 5 เว็บยักษ์ ไม่จ่ายปิดทันที!

รัฐรีดภาษี “Facebook” พ่วง 5 เว็บยักษ์ ไม่จ่ายปิดทันที!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมสรรพากรแจ้งความคืบหน้าการศึกษาโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์หรือหรือธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลรัษฎากรหรือร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นจัดเก็บในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลปัจจุบัน คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้
    
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ยืนยันว่า การปรับโครงสร้างการจัดเก็บ หรืออัตราภาษีจะต้องสอดคล้องตามหลักสากล เช่นเดียวกับที่ขณะนี้หลายประเทศได้เดินหน้ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในลักษณะนี้ไปแล้วไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เป็นต้นกฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีครั้งสำคัญของกรม สรรพากรที่จะต้องพิจารณาบนฐานที่รัดกุม สามารถปิดช่องโหว่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต การจัดเก็บบนฐานที่ถูกตัวถูกคน 
    
ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายจำเป็นต้องทำให้รอบด้านเพราะหากจะแก้ไขอีกคงไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากกฎหมายจะต้องมีผลบังคับใช้ไปอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีหรือมากกว่านั้นถึงจะเริ่มมีการมองว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่ล้าสมัยหรือยัง ดังนั้นการแก้ไขรอบนี้จะต้องมองถึงภายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 10-20 ปีข้างหน้า รวมถึงประเมินรูปแบบของธุรกิจใหม่ๆ ที่มาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดย เฉพาะรูปแบบการทำธุรกิจที่จะโยกขึ้นไปซื้อขายบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น 

ทะเบียนสรรพากรเท่านั้น
แนวทางการจัดเก็บภาษีจะเน้นไปที่การทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก โดยกำหนดแนวทางการพิจารณาเอาไว้คือ หากเปิดเว็บไซต์เพื่อทำการซื้อขายสินค้าบนเว็บไซต์แล้ว เจ้าของเว็บไซต์จะต้องจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรเท่านั้นถึงจะสามารถทำธุรกิจในไทยได้ ถึงแม้จะมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ก็จะต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่หากไม่มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้วเว็บไซต์เหล่านั้นก็จะถูกปิดถาวรทันที
    
“ถามว่าทำไมถึงต้องมาขึ้นทะเบียน ก็เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้มีฐานข้อมูล เพราะการจัดเก็บภาษีครั้งนี้กำหนดว่าเจ้าของเว็บไซต์จะต้องนำส่งภาษี Vat หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการจำหน่ายสินค้าหรือให้บริการตามกฎหมายจัดเก็บอยู่ที่ 7% หากเป็นธุรกิจที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และจากการตรวจสอบเบื้องต้นมากกว่า 60-70% ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ล้วนแต่มีรายได้เกินปีละ 1.8 ล้านบาททั้งสิ้น”

นำร่องตีตรา5เว็บยักษ์
    
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทันทีที่เกิดการรับเงินหรือเกิดการซื้อขาย การติดต่อทางธุรกิจต่อ 1 Transaction เจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้นก็จะต้องเสียภาษี Vat ทันที โดยมีการจัดกลุ่มเว็บไซต์ออกเป็นกลุ่มย่อย ในขณะนี้ 5 กลุ่มย่อย ได้แก่
    
1.เว็บไซต์กลุ่มธุรกิจขายหรือจำหน่ายสินค้าทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง เช่น Alibaba / Lazada / 2. เว็บไซต์หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีรายได้จากเว็บไซต์ เช่น Facebook / Google / Line / Youtubeที่มีการเปิดเป็นเครือข่ายเพื่อขายสินค้าออนไลน์หรือทำรายได้จากการคลิกชมโฆษณา 
    
3. เว็บไซต์จองที่พักหรือโรงแรม เช่น traveloka.com / expedia.co.th / asiatravel.com/th 4.จองตั๋วหรือบัตรชมการแสดง-คอนเสิร์ต 5. เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับนายหน้าการขายสินค้าและบริการ เช่น ประกันออนไลน์ รวมถึงเว็บไซต์ที่มีการรีวิวสินค้าหรือบริการ เว็บไซต์หาคู่ เป็นต้น คาดว่าทั้งระบบจะมีจำนวนนับพันราย
    
สรรพากรประเมินขณะนี้การค้าขายในธุรกิจออนไลน์ที่เป็นกลุ่มอี-คอมเมิร์ซของไทยมีจำนวน 5 แสนกว่าราย สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ประกอบการกับผู้บริโภค (Business to Consumer – B2C) ถือเป็นการค้าระหว่างผู้ค้าโดยตรงถึงลูกค้า โดยกลุ่มนี้ถือว่าไทยมีจำนวนสูงที่สุดในอาเซียน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 1.7-1.8 แสนราย  2.ผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (Business to Business –  B2B) มีสัดส่วนประมาณ 30% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 7-8 หมื่นราย 
    
ขณะที่ในปี 2559 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยคาดมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาทเติบโตสูงถึง 10% จากปี 2558 ที่มีมูลค่าการค้าอยู่ที่  2.1 ล้านล้านบาทส่วนปี 2560 นี้น่าจะขยายตัวสูงถึง 10% มูลค่าการค้ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท


อย่าใช้ยาแรงธุรกิจไทย
    
ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดดอตคอม จำกัด ในฐานะกูรูด้านอี-คอมเมิร์ซของไทยกล่าวว่าเห็นด้วยกับกรณีที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีของธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ แต่สำหรับธุรกิจในไทยถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งไม่อยากให้รัฐ โดยเฉพาะสรรพากร เดินหน้าจัดเก็บภาษีอย่างเดียว โดยยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่ต้องมานั่งหารือ หาแผนและทางออกแบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากรัฐใช้ยาแรง มีผลต่อการค้าออนไลน์ในประเทศแน่นอนโดยผู้ที่ต้องการทำหรือเริ่มทำการค้าออนไลน์จะตื่นตระหนกไปหมด และกระทบต่อธุรกิจออนไลน์แน่นอน รวมไปถึงผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซและออนไลน์ในไทย
    
“ที่น่าเป็นห่วงคือ อำนาจสรรพากรเพิ่มมากขึ้น เรียกขอข้อมูลลูกค้าเมื่อไรก็ได้หากสงสัยตรงนี้จะทำให้ลูกค้าหลายๆ คนกังวลว่าจะเปิดธุรกิจออนไลน์ในไทยดีหรือไม่ เราอาจจะเห็นการย้ายฐานการค้าของคนทำการค้าออนไลน์บางกลุ่มย้ายออกไปใช้บริการของต่างประเทศ ที่กฎหมายไทยไม่ครอบคลุม แน่นอนว่าจะกระทบกับวงการอี-คอมเมิร์ซไทยแน่นอน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook