ปากีสถานเปิดสายด่วนช่วยเหลือหญิงถูกคุกคามออนไลน์

ปากีสถานเปิดสายด่วนช่วยเหลือหญิงถูกคุกคามออนไลน์

ปากีสถานเปิดสายด่วนช่วยเหลือหญิงถูกคุกคามออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายหลัง Qandeel Baloch   เน็ตไอดอลปากีสถาน ถูกพี่ชายฆ่าโหดด้วยการรัดคอ เพราะโกรธแค้นที่เธอมักจะโพสต์ภาพถ่าย และนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามลงในสังคมออนไลน์ โดยพี่ชายสารภาพว่าลงมือก่อเหตุฆ่าเพื่อรักษาเกียรติให้ครอบครัว   กรณีดังกล่าวส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนนับพันคนที่โพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์ ต่างหวาดกลัวว่า การกระทำดังกล่าวจะเป็นการทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน 

Nighat Dad เป็นสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องสิทธิ ซึ่งได้ก่อตั้งกองทุน Digital Rights Foundation ที่ให้การสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นโดยเสรี และต่อต้านการคุกคาม เล่าว่า มีผู้หญิง โทรเข้ามาขอคำแนะนำไม่ว่างเว้น ส่วนมากพวกเธอกลัวว่าตัวเองจะตกเป็นเป้าหมายต่อไป ซึ่งเธอก็ได้ให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลเรื่องกฏหมายแก่เหยื่อเหล่านี้มาตลอด ตั้งแต่ที่ได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นเมื่อปี 2012 แต่การขอความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นหลัง Qandeel ถูกฆาตกรรมเมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และเพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นไปอย่างทั่วถึง Nighat Dad ได้เปิดบริการสายด่วนขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม โดยสถานที่ดำเนินการคือสำนักงานของเธอใน Lahore

Nighat Dad เล่าว่า ผู้หญิงจำนวนไม่น้อย หลังถูกคุกคามผ่านสังคมออนไลน์แล้ว ยังถูกกระทำความรุนแรงในชีวิตจริงอีกด้วย  ปัญหาการถูกคุกคามทางออนไลน์นั้นส่วนมากจะเป็นการถูกแบล็คเมล์ในเรื่องเพศสัมพันธ์ บางครั้งการข่มขู่คุกคาม ก็มาจากแฟนของตนเอง โดยการถ่ายภาพโป๊เปลือยของฝ่ายหญิงไว้ เพื่อเป็นข้อต่อรองให้เธอยอมทำในสิ่งที่คนร้ายต้องการไม่เช่นนั้น ฝ่ายชายกะนำรูปภาพเหล่านั้นออกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต

Eman Suleman นักศึกษาวัย 25 ปี บอกว่า เธอได้เข้าร่วมโครงการรณรงค์ให้คนเข้าใจในเรื่องการมีประจำเดือนของผู้หญิง แต่แทนที่จะได้รับความเข้าใจ กลับถูกข่มขู่ ทำร้ายถึงขั้นจะเผา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พ่อแม่ของเธอกังวลจนไม่ให้เธอออกไปเรียน และเธอโทรมาเล่าให้ Nighat Dad ฟังว่า ทุกวันนี้เธอหวาดระแวงกับการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ  แม้กระทั่งเห็นรถจักรยานยนต์ขับเข้ามาใกล้ ยังกลัวว่าพวกเขาจะชักปืนออกมายิงเธอ

งานของ Nighat Dad นั้นต้องให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของข้อกฏหมาย และให้การเยียวยาทางด้านอารมณ์ ความวิตกกังวลในจิตใจของผู้ถูกคุกคาม ซึ่งตัวเธอเองนั้นก็เป็นนักกฏหมาย ปัจจุบันอายุ 35 ปี และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอบอกว่า งานของเธอมาถูกทางแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ เธอเพิ่งจะได้รับรางวัลจาก Atlantic Council Digital Freedom และ รางวัลจากกลุ่ม Human Right Tulip ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ในฐานะที่มีความพยายามในการบุกเบิกของเธอ ทั้ง ๆ ที่เธอเองก็ไม่เคยคาดหวัง เพียงแต่ต้องการให้ผู้คนรู้ว่ายังมีคนที่ต้องการช่วยเหลือ และเมื่อถูกคุกคามก็ไม่ควรจะเงียบ

ล่าสุดความพยายามของเธอเริ่มจะเห็นผลในทางกฏหมาย เพราะปีที่แล้วปากีสถานได้ผ่านกฏหมายอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้รวมเอาเรื่องของการข่มขู่คุกคามทางออนไลน์ การแบล็คเมล์ และการแกะรอยตามหาเข้าไปด้วย โดยผู้ที่กระทำการดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษทั้งปรับและจำคุก

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook