องค์กรสื่อยื่นค้านพรบ.ห่วงเสรีภาพ-คณิตปัดมีใบสั่งถอยรอมติสปท.

องค์กรสื่อยื่นค้านพรบ.ห่วงเสรีภาพ-คณิตปัดมีใบสั่งถอยรอมติสปท.

องค์กรสื่อยื่นค้านพรบ.ห่วงเสรีภาพ-คณิตปัดมีใบสั่งถอยรอมติสปท.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

30 องค์กรสื่อ ยื่นหนังสือ สปท. ค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ชี้ครอบงำเสรีภาพ เรียกร้องคว่ำร่างเพื่อศึกษาใหม่ ชี้ กมธ. ปรับแก้แล้วก็ยังเป็นเผด็จการ ขณะ 'คณิต' เผย สปท. ยอมถอยครึ่งทางยันเนื้อหาไม่แทรกแซงลิดรอนสิทธิ์

นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมผู้แทนองค์กรสื่อมวลชนต่าง ๆ รวม 30 องค์กร ยื่นหนังสือถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เพื่อเรียกร้องให้ถอนร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ที่ สปท. จะมีการพิจารณาในวันนี้ แม้กรรมาธิการฯ จะยอมปรับเปลี่ยนจากการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นใบรับรองประกอบวิชาชีพก็ตาม เนื่องจากในเนื้อหาอื่นก็ยังเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน มีความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม และยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของ รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จึงเรียกร้องไปยัง สปท. ตีตกรายงานดังกล่าว เพื่อเริ่มกระบวนการจัดทำใหม่

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ยืนยันว่า รายงานดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาในการปิดกั้น หรือแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน และที่ผ่านมากรรมาธิการฯ ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และการออกกฎหมาย ยังจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. อีก รวมถึงยังจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า วันนี้ก่อนประชุม สปท. กรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อ จะมีการประชุดนัดพิเศษ เพื่อเสนอตัดหลักการเกี่ยวกับการออกใบประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รวมถึงบทลงโทษออกจากร่างกฎหมาย เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้เกิดปัญหา และเป็นเรื่องหนึ่งที่สื่อมวลชนคัดค้าน และถือเป็นการพบกันคนละครึ่งทาง โดยจะยังคง 2 ตัวแทนจากภาครัฐ นั่งในสภาวิชาชีพ เพราะมั่นใจว่าจะไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อได้เนื่องจาก สภาวิชาชีพ ทำงานในระบบบอร์ด ต้องอาศัยที่ประชุม ซึ่ง ผู้แทนของรัฐมีน้อยกว่า ผู้แทนสื่อจึงไม่น่าจะเกิดการแทรกแซงได้

ทั้งนี้ พล.อ.อ.คณิต ยังกล่าวด้วยว่า ขอยืนยัน เนื้อหาของ พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อ ไม่มีบทบัญญัติที่ลิดรอนสิทธิ์ของสื่อมวลชน จึง อยากขอโอกาสให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจ และทำให้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งหาก สปท. เห็นชอบ ก็จะส่งต่อให้กับ ครม.พิจารณา และส่งต่อให้ สภานิตบัญญัติแห่งชาติ
ดำเนินการต่อไป ซึ่งหากเมื่อถึงขั้นนั้น จะต้องมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย และทำความเข้าใจกันมากขึ้น 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook