พลิกแฟ้มคดีดัง : สืบทอดศึกตำนานเลือด อุเทนฯ-ปทุมวัน

พลิกแฟ้มคดีดัง : สืบทอดศึกตำนานเลือด อุเทนฯ-ปทุมวัน

พลิกแฟ้มคดีดัง : สืบทอดศึกตำนานเลือด อุเทนฯ-ปทุมวัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 77 ปี ตำนานศึกสองสถาบัน ปทุมวัน-อุเทนถวาย ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพียรพยายามหาทางออกอย่างไรก็ไร้ผล

ตรงกันข้ามกลับทวีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 2 เหตุการณ์ล่าสุด ยกพวกตะลุมบอนที่หน้าสถาบันนิติเวชวิทยาและหน้าห้างมาบุญครอง

อะไรคือสาเหตุอันเป็นจุดก่อกำเนิดและการดำรงอยู่ของปัญหาของสองสถาบัน ?

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เดิมทีชื่อ "โรงเรียนก่อสร้างอุเทนถวาย" เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2475 เมื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รมว.ศึกษาธิการ ดำริให้ก่อตั้งขึ้นในที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบนเนื้อที่ 2 ไร่ ระยะแรกเปิดรับนักเรียน 3 แผนก คือ ประถมวิสามัญ มัธยมวิสามัญ และช่างฝีมืองานไม้

ตลอดเวลาการเรียนการสอนมีการเปลี่ยนหลักสูตรเรื่อยมา กระทั่งปี 2542 ได้เปิดการสอนในระดับปริญญาตรีต่อเนื่องจากระดับ ปวส.ในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาการจัดการงานก่อสร้าง สาขาวิศวกรรมโยธา และยุบการสอนระดับชั้น ปวช.ออกไป เนื่องจากเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เชื่อกันว่าทำให้ปัญหาการยกพวกตะลุมบอนดำรงอยู่

"จากการสำรวจพบว่า ระดับ ปวช.เป็นระดับชั้นที่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อยที่สุด จึงยุบการสอนไปแล้วมาเปิดการสอนระดับปริญญาตรีแทน แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม" สาคร สิธิเดชากุล อายุ 44 ปี ศิษย์เก่าอุเทนถวาย รุ่น 51 เจ้าของบริษัทซีวิว โซลูชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างใน จ.ภูเก็ต เท้าความ

ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นโรงเรียนช่างกลแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2475 ในนามโรงเรียนอาชีพช่างกล ณ ตึกพระคลังข้างที่ ตรอกกัปตันบุช ถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยคณะนายทหารเรือนำโดย น.อ.พระประกอบกลกิจ ด้วยต้องการให้ปลูกฝังอาชีพช่างให้เยาวชนไทย

หลังจากนั้นได้ย้ายไปตั้งแทนที่กรมแผนที่ทหารบก และต่อมาปี 2480 ได้เช่าที่ดินตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ แล้วย้ายโรงเรียนมาตั้งอยู่ที่นี่ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2482 ตั้งชื่อใหม่ว่าอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกช่างกลและเป็น ช่างกลปทุมวัน จนปี 2541 ได้ยกฐานะเป็นสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน

สาคร เล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาศึกษาที่อุเทนถวายก็พบเห็นความขัดแย้งและยกพวกตะลุมบอนระหว่างสองสถาบันแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แต่ส่วนตัวเขาเชื่อว่าเป็นเรื่องของวุฒิภาวะและความคึกคะนองของวัยรุ่น ประกอบกับปทุมวัน-อุเทนถวายมีที่ตั้งอยู่ใกล้กัน จึงมีเหตุขัดแย้งกันบ่อย ยิ่งห้างมาบุญครองและสยามสแควร์เปิดแรกๆ เป็นจุดศูนย์รวมของกลุ่มวัยรุ่น เลยเห็นว่าทั้งสองสถาบันมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบ่อย อย่างไรก็ตามหลังๆ มานี้ สาครรู้สึกหดหู่ใจทุกครั้งเมื่อเห็นการทะเลาะวิวาทของทั้งสองสถาบัน มีความสูญเสียเกิดขึ้น ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามจะมีอีกหลายคนที่เสียใจ ขณะที่อีกหลายคนก็จะสูญเสียโอกาสในชีวิตไป

 ศิษย์เก่าอุเทนฯ ยืนยันเสียงหนักแน่นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รุ่นพี่ไม่มีการสั่งสอนให้ทำร้ายห้ำหั่นสถาบันใด ไม่มีใครอยากให้เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่จะพยายามสอนให้รักเพื่อน รักพี่ รักน้อง มีอะไรให้ช่วยเหลือกัน

"ไม่ว่าสถาบันไหนๆ ก็รักสถาบัน รักเพื่อน รักพี่ รักน้องไม่แตกต่างกัน ถ้าผมไม่ได้อยู่อุเทนฯ ถ้าเพื่อนโดนทำร้ายผมก็ต้องช่วย"

สาครยกตัวอย่างหนึ่งเมื่อครั้งจบออกมาแล้วสมัครงาน เขาได้งานทำทันทีทั้งที่เจ้าของบริษัทยังไม่เห็นหน้าด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุผลเพียงว่าจบจากอุเทนถวาย ซึ่งทำให้มีทุกวันนี้ได้ก็ด้วยความรักเพื่อนพ้องและพี่น้องนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สาครเฝ้ามองรุ่นน้องอยู่ทุกวันนี้เห็นว่า การยกพวกตีกันของสองสถาบันไม่ได้มากไปกว่าเมื่อครั้งอดีต เพียงแต่ปัจจุบันรุนแรงมากขึ้น มีการใช้ระเบิด ใช้ปืน ต่างกับสมัยก่อนที่มีอย่างดีก็แค่มีด ไม้ และคัตเตอร์ ประกอบกับยุคนี้สื่อเข้าถึงและแพร่กระจายข่าวได้รวดเร็วกว่าเท่านั้น

มุมมองของปัญหาของสาครส่วนหนึ่งไม่ต่างอะไรกับ "ชนินทร์ นุ่มศิริ" ศิษย์เก่าช่างกลปทุมวัน รุ่น 43 อดีตอาจารย์สอนช่างกลปทุมวันมายาวนานถึง 22 ปี มองว่าปัญหาของปทุมวัน-อุเทนฯ ก็เหมือนกับสถาบันอื่นๆ เพียงแต่ทั้งสองสถาบันนี้อยู่ใกล้กัน อยู่ใจกลางเมือง ใจกลางชุมชน เมื่อเกิดอะไรขึ้นจึงเป็นที่จับตามองมากกว่า อย่างไรก็ดีปัญหาการต่อยตีของสองสถาบันสั่งสมมานาน สำหรับเขามองว่าสมัยยังเรียนอยู่การทะเลาะเบาะแว้งเป็นเรื่องของลูกผู้ชาย ไม่มีการรุมทำร้ายหรือใช้อาวุธรุนแรงเหมือนสมัยนี้

ตรงกันข้ามกับสมัยนี้ที่มีความเชื่อผิดๆ ต้องเก็บแต้ม ทำคะแนน ถึงจะเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนฝูง !?!

"ผมไม่อยากเชื่อว่าเด็กเหล่านี้ทำไมถึงยอมรับความคิดและค่านิยมผิดๆ จากรุ่นพี่ที่สั่งสมมา ทั้งที่ตัวเองเรียนระดับปริญญาตรีแล้ว ผมเห็นกับตาว่าเด็กเชื่อรุ่นพี่มากกว่าครู เขายอมยกมือไหว้รุ่นพี่ แต่ไม่ไหว้ครู หนำซ้ำครูผู้หญิงเห็นตั้งวงเหล้าในสถาบันว่ากล่าวตักเตือน เขาไม่พอใจโยนระเบิดปิงปองใส่ก็มี"

สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น อาจารย์ชนินทร์ เชื่อว่า ทุกคนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เนื่องจากครูจะดูแลได้ในช่วงหนึ่งเท่านั้น คนที่อยู่ใกล้เด็กมากที่สุดคือเพื่อนและรุ่นพี่ บางครั้งชวนกันไปทำสิ่งผิด เด็กก็คิดว่าเพื่อนและรุ่นพี่ของเขาคือคนที่เป็นห่วงเขาและเขาไว้ใจได้ที่สุด นอกจากนี้ การยกระดับการศึกษาด้วยการยุบ ปวช.แล้วมาสอนปริญญาตรีก็มีส่วนด้วย ปริญญาตรีสอนให้เรียนรู้การใช้ชีวิต แต่ระดับ ปวช.ต้องมีครูคอยจ้ำจี้จ้ำไช รวมถึงการบริหารการศึกษาโดยเน้นเรื่องธุรกิจเป็นหลัก

เมื่อไรจะเลิกตีกัน ?

"ไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะจบลงตรงไหน ผมอยากให้มันยุติลงเร็วๆ เพราะสถาบันก็ยกระดับเป็นปริญาตรีแล้ว หมายถึงพวกเราอยู่ในระดับปัญญาชน" เก่ง นักศึกษาปี 1 อุเทนฯ

"ตอบยาก เพราะถ้าอุเทนฯ หยุดปทุมวันจะหยุดหรือเปล่า มันเป็นเรื่องความหวาดระแวง ที่ผ่านมาจับมือยุติความขัดแย้งแล้ว แต่ก็มีคนตายคนเจ็บตลอด" ต้น บัณฑิตใหม่หมาดจากรั้วอุเทนฯ

"อยากจะจบนะ แต่ใครจะรับรองความปลอดภัย ไปถามใครก็อยากให้จบความขัดแย้งทั้งนั้น ทุกวันนี้จะมาเรียนหรือไปไหนมาไหนก็ระแวง ไม่เป็นสุขเหมือนกับนักศึกษาที่อื่น" พจน์ นักศึกษาปทุมวัน

"มันมีมานานแล้วจะให้หยุดทันทีคงไม่ได้ ใครจะรับรองความปลอดภัยให้ ไม่นานมานี้ผมกับเพื่อนขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน ใส่ชุดยูนิฟอร์มของบริษัท แค่เห็นสวมแหวนรุ่นปทุมวันก็ตามมาเอามีดแทงแล้ว" ติ๊ก บัณฑิตปทุมวันที่เตรียมเข้ารับปริญญาปลายปีนี้

ทางแก้-ทางออก

แอ๊ด คาราบาว ศิษย์เก่าอุเทนถวาย

สาเหตุที่ตีกันอย่างทุกวันนี้ เป็นค่านิยมและความเข้าใจผิดๆ ถูกปลูกฝังโดยพวกรุ่นพี่ตัวดี เข้าไปยุแหย่ให้น้องๆ คล้อยตาม อยากให้ครูคอยเข้มงวดดูแล อย่าให้รุ่นพี่เหล่านี้มาคอยเสี้ยมรุ่นน้อง สมัยผมเรียนก็มีรุ่นพี่พวกนี้มาชักจูงให้รักษาเกียรติสถาบัน เป็นรุ่นน้องก็ทำตามๆ กันไป พอจบออกมาก็คิดได้ว่าที่ทำมันไร้สาระ จึงอยากจะฝากบอกต่อกับรุ่นน้องๆ จงยึดถือสิ่งที่ถูกต้อง ออกไปทำงานให้สังคมจะดีกว่ามัวมานั่งทะเลาะเบาะแว้งกัน สถาบันเองก็ต้องเอาตัวหัวโจกออกไป รวมถึงรุ่นพี่ที่จบไปแล้วอย่าให้มามีส่วนเกี่ยวข้องอีก

สมบัติ เมทะนี ศิษย์เก่าอุเทนถวาย

สมัยที่ผมเรียนไม่มีเหตุการร์รุนแรงแบบนี้ สมัยก่อนมีการปลูกฝังทำกิจกรรมร่วมกันของทั้งสองสถาบันอยู่เป็นประจำ ทำให้นักเรียนรักกัน การชกต่อยมีบ้างในกลุ่มเด็กผู้ชาย แต่ไม่ได้ใช้มีดแทงกันหรือไล่ยิงกันเหมือนทุกวันนี้ ครูต้องเป็นคนโน้มน้าวจิตใจให้เด็กๆ ได้คิด ปัจจุบันทั้งสองสถาบันลืมเรื่องนี้ ลืมที่จะปลูกฝังเรื่องของความรัก ความสามัคคีกัน ถ้าครูสามารถดึงตรงนี้กลับมาได้ จะช่วยลดการทะเลาะวิวาทของเด็กลงได้

มนตรี สินทวิชัย หรือครูยุ่น เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก

ปัญหาความรุนแรงกระจายไปทั่วทุกที่ สะท้อนว่าวัยรุ่นนิยมใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธมากขึ้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมการจำหน่ายอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นมีดสปาร์ตาไปจนถึงปืน ซึ่งหาซื้อได้ง่ายมาก เมื่อควบคุมได้โอกาสในการใช้ความรุนแรงก็จะน้อยลง แล้วหากิจกรรมให้เด็กมารวมกลุ่มกัน ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำๆ เลิกๆ ส่วนสื่อเองก็อย่ากระพือปมขัดแย้งโดยไม่จำเป็น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook