มท.2 ไม่เชื่อรัฐบาลเก่ามีเอี่ยวทุจริตนมร.ร. 11 จังหวัดร้องเรียนเพิ่ม อย.เผยผลตรวจไร้มาตรฐาน

มท.2 ไม่เชื่อรัฐบาลเก่ามีเอี่ยวทุจริตนมร.ร. 11 จังหวัดร้องเรียนเพิ่ม อย.เผยผลตรวจไร้มาตรฐาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
บุญจง ไม่เชื่อรบ.เก่าเกี่ยวข้องการทุจริตนมร.ร. ชี้เป็นเอกชนฮั้วกัน อย.สรุปผลตรวจนมโรงเรียน ที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ไม่ได้มาตรฐาน โทษปรับแค่ไม่เกิน 5 หมื่น สั่ง สสจ. 35 จังหวัดตรวจ รง.ผลิตนม ร.ร.ทั้ง 68 แห่ง นายก อบต.ยันไม่ได้เปอร์เซ็นต์ แฉล็อคสเปคจากข้างบนแล้ว เชื่อมีเงินรั่วนับพันล้าน มท.2ไม่เชื่อรบ.เก่าเอี่ยวนมร.ร.บูด เชื่อบ.เอกชนฮั้วเอง นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ถึงปัญหาการแจกนมไม่ได้คุณภาพที่ จ.ชุมพร ว่า ไม่เชื่อว่า รัฐบาลชุดที่ผ่านมาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ปัญหาเรื่องการแจกนม น่าจะเป็นเพราะช่องโหว่ในระบบ ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการสามารถฮั้วกันเองได้ จนนำไปสู่ปัญหาดังกล่าวขึ้น

ส่วนการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( อปท. ) จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าวหรือไม่นั้น นายบุญจง กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยาก เพราะโครงการดังกล่าวนั้น ตามระบบ อบต. ต่างๆ ทำหน้าที่เป็นเหมือนเพียง ไปรษณีย์ ที่ทำหน้าจัดซื้อแล้วนำไปแจกให้โรงเรียนต่างๆ เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตนยืนยัน จะขอเดินหน้า โครงการแจกนมโรงเรียนต่อไป เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ผู้ที่เข้าร่วมโครงการอาศัยช่องโหว่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง จนนำไปสู่การทุจริตทางกระทรวง อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบที่ให้โควต้ากับบริษัทเอกชนในการจัดหานมป้อน ให้กับ ทาง อบต. เป็นการเปิดเสรีเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพของนมที่ดีขึ้น

ป.ป.ท.เก็บข้อมูลนมร.ร.ที่ชุมพร

กรณีการตรวจพบนมในโครงการนมโรงเรียน ที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ไม่ได้คุณภาพ โดยมีการระบุว่าขั้นตอนการจัดซื้อนมในโครงการมีการล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ให้บริษัทกลุ่มหนึ่ง รวม 68 ราย และผูกขาดพื้นที่การขายนั้น

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นายวิสาร หทัยธรรม ผู้อำนวยการสำนักปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 1 (ส.ป.ท.1) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะ เดินทางไปยังโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ชุมพร เขต 2 รวม 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านปากเลข หมู่ 10 ต.พะโต๊ะ อ.พะโต๊ะ ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบต.พะโต๊ะ และโรงเรียนพัฒนศึกษา หมู่ 5 ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ อยู่ในความดูแลของ อบต.ปากทรง เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับนมโรงเรียนที่ร้องเรียนว่าไม่มีคุณภาพ

นายวิสาร กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อเก็บข้อมูลจากโรงเรียนต่างๆ ในสังกัด สพท.ชพ.เขต 2 โดยเฉพาะประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับโรงเรียน และจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องคุณภาพของนมเป็นหน้าที่ของสาธารณสุขและปศุสัตว์ ที่จะต้องตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ต่อไป ยังไม่สามารถชี้มูลได้ว่ามีการทุจริตหรือไม่

อบต.เชื่อมีเงินรั่วนับพันล้าน

นายสุธรรม ทิพย์มโนสิงห์ นายก อบต.ปังหวาน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า การจัดซื้อนมโรงเรียนเป็นการบังคับให้ซื้อเพียง 2 บริษัทเท่านั้น แม้จะมีรายชื่อบริษัทให้ขายถึง 18 บริษัท แต่ในความเป็นจริงอีก 16 บริษัทเหมือนมีเอาไว้หลอกๆ เท่านั้น เพราะไม่เคยมี 16 บริษัทมายื่นซองเพื่อขายนมโรงเรียนเลย ได้สอบถามไป แต่ได้รับคำตอบว่ามีการแบ่งโซนกันแล้ว เคยมีคำพูดเชิงเยาะเย้ยอีกว่าให้ดิ้นรนไปหาบริษัทไหนก็ไม่มีใครมาสนใจ เพราะเขาแบ่งเค้กกันเรียบร้อยแล้ว มั่นใจว่าไม่มี อปท.ใดได้เปอร์เซ็นต์จากบริษัทส่งนม เพราะล็อคสเปคมาจากข้างบนแล้ว ส่วนใครจะได้ต้องให้หน่วยงานอื่นมาตรวจสอบ

นายสุธรรม กล่าวว่า เคยคุยกับผู้บริหารโรงเรียนหลายแห่งใน สพท.ชุมพร เขต 2 ทราบว่า สมัยที่ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดซื้อเอง สามารถแจกนมได้อย่างมีคุณภาพ เด็กนักเรียนชอบดื่ม รวมทั้งราคาถูกกว่าท้องตลาด ทำให้โรงเรียนมีงบประมาณเหลือเทอมละ 1-2 แสนบาท อบต.แต่ละแห่งมีโรงเรียนในความดูแล 4-5 โรง เมื่อรวมเงินที่เหลือจากการบริหารจัดการที่ดี อบต.หนึ่งๆ จะมีเงินเหลือแห่งละเกือบ 1 ล้านบาท จึงอยากถามว่า ขณะนี้เงินส่วนนั้นหายไปไหน หากคิดภาพรวมทั้งประเทศ จะเป็นเงินเท่าไหร่ และนมโรงเรียนที่บริษัทส่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดไม่ถึง 1 บาทในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แต่ทำไมคุณภาพจึงแตกต่างกันมาก ผู้ที่ได้โควต้าส่งนมก็เป็นกลุ่มเดียวกัน คิดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจมีรายได้นับพันล้านบาท ขณะที่เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติกลับไม่ได้รับประโยชน์จากการดื่มนมเท่าที่ควร

อย.ยันนมร.ร.ชุมพรตกมาตรฐาน

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า คาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบนมโรงเรียนทั้ง 24 ถุง ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ โดยผลการตรวจสอบจะเป็นลักษณะคุณภาพของนมว่ามีปริมาณโปรตีน ไขมัน ต่อน้ำหนัก ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยค่าเฉลี่ยในนมที่ได้มาตรฐานควรมีโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.8 ของน้ำหนัก เนื้อนมไม่รวมมันเนย ร้อยละ 8.25 ของน้ำหนัก มันเนยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 3.2 ของน้ำหนัก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นนมโคแท้ หรือนมผง

นพ.พิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างนมโรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร จำนวน 1 ถุง ผลิตโดยบริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม ที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า เป็นนมตกมาตรฐาน มีไขมันเพียง ร้อยละ 2.62 ต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนเนื้อนมไม่รวมไขมัน ร้อยละ 8.31 และไขมัน ร้อยละ 2.94 จึงถือว่าผิด พ.ร.บ. อาหาร ฐานผลิตอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

สันนิษฐานว่า นมไม่ได้มาตรฐานมาจาก 3 ประเด็น คือ 1.กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน 2.น้ำนมดิบไม่มีคุณภาพ และ 3.ใช้นมผงผสมน้ำ ขณะนี้ทราบว่า บริษัท นำศรีชล เครื่องดื่ม หยุดผลิตนมแล้ว จึงตรวจสอบได้ยาก แต่เบื้องต้นโรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ตรวจสอบโรงงานผลิตนมโรงเรียนทั้ง 68 แห่ง ใน 35 จังหวัด ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ และจะส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อย ตรวจสอบและแก้ไขฉลากให้ถูกต้อง เลขาธิการ อย.กล่าว

สธ.สั่งทำชุดตรวจคุณภาพนมร.ร.

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียน ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจวิเคราะห์ว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานของ อย. หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่สามารถตรวจได้ว่าเป็นนมโคแท้หรือนมผงผสมน้ำ เนื่องจากนมผงเมื่อผสมน้ำจะมีสารอาหารครบตามมาตรฐาน แต่ให้กรมวิทย์ไปคิดค้นชุดทดสอบนมอย่างง่ายที่ใช้ทดสอบได้ด้วยตนเอง เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ใช้ทดสอบว่านมได้มาตรฐานหรือไม่

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ได้รับตัวอย่างนมโรงเรียนเพียง 1 ถุง จึงตรวจได้เพียงว่านมมีคุณภาพตามมาตรฐานของ อย.หรือไม่เท่านั้น ส่วนการตรวจหาการปนเปื้อนของแบคทีเรียต้องใช้ตัวอย่างนมที่มาก ต้องรอผลตรวจสอบแบคทีเรียจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สุราษฎร์ธานี

น.ส.กนกวรรณ เทพเลื่อน นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียน 24 ถุงจากโรงเรียนปากเลข อ.พะโต๊ะ จะตรวจสอบหาคุณภาพมาตรฐานด้านโภชนาการและเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เวลา 5 วัน เพื่อหาปริมาณคุณภาพของนมเกี่ยวกับไขมันและโปรตีน ที่มีส่วนทำให้รสชาติของนมเปลี่ยนไป

น.ส.สุภานิที เสบุญ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชำนาญการ ประจำห้องปฏิบัติการจุลชีวะอาหาร กล่าวว่า จะตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เวลาประมาณ 2 วันเพื่อดูว่ามีการปนเปื้อนของเชื้อโรคหรือไม่ จะทราบผลในสัปดาห์หน้า

11จว.ร้องนมโรงเรียนเน่า

วันเดียวกัน นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผู้ร้องเรียนปัญหานมโรงเรียนเน่าเสียเข้ามายังสายด่วนการศึกษา 1579 ถึง 11 ราย โดยมาจากจังหวัดนครราชสีมา สมุทรสาคร อุตรดิตถ์ อยุธยา ปราจีนบุรี ปทุมธานี ชัยนาท ลำปาง นครนายก ชุมพร และกำแพงเพชร ตนจึงมอบให้ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในเขตตรวจราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบในพื้นที่ 11 จังหวัดที่มีการร้องเรียน เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนที่สุด คาดว่าจะทราบผลภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้

ปชป.ขอโทษชวรัตน์ถูกพาดพิง

รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เรียกนายสุธรรม นทีทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไปพบ และขอให้ยุติการพูดพาดพิงถึงรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ในพรรคประชาธิปัตย์ได้ประสานไปยังนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น หลังจากกระทรวงมหาดไทยออกมาชี้แจงแล้วว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากคณะกรรมการตรวจรับนม และเกิดจากบริษัทนมที่ไม่มีคุณภาพ

อธิบดีสถ.โบ้ยให้จับตาแจกชุดน.ร.

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จะเชิญนายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) มาชี้แจงในสัปดาห์หน้า กรณีให้ข่าวที่ไม่เหมาะสมว่า หากถูกย้ายจะแฉเรื่องการทุจริตต่างๆ

นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรม สถ. กล่าวถึงกรณีให้สัมภาษณ์ว่า หากพ้นจากเก้าอี้อธิบดี สถ. จะออกมาแฉเรื่องเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ว่า เป็นความเข้าใจผิด เพราะเรื่องเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องนมที่กำลังมีปัญหา และไม่ได้มีความประสงค์ที่จะสร้างปัญหาให้กับใคร แต่เรื่องที่ตนต้องการให้จับตานั้น คือเรื่องการจัดซื้อหนังสือเรียน เครื่องแบบนักเรียน การแจกเบี้ยผู้สูงอายุ รวมทั้งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะอาจมีปัญหาเหมือนกรณีนมได้ ส่วนกรณีที่นายชวรัตน์จะให้ตนชี้แจงเรื่องดังกล่าว ก็พร้อม

เผยมีผู้ประกอบการซ้ำข้ามโซน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ประกอบการ 68 แห่งที่ได้รับอนุมัติให้ขายนมกับโรงเรียน ในโซนที่ 1 ภาคเหนือ มีผู้ประกอบการ 18 แห่ง ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการซ้ำกัน 2 แห่ง คือสหกรณ์โคนมเชียงราย จำกัด ที่อยู่ในลำดับที่ 4 และ 6 ส่วนโซนที่ 2 ภาคตะวันตกและภาคใต้ มีผู้ประกอบการ 18 แห่ง และโซนที่ 3 ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ประกอบการ 40 แห่ง ปรากฏว่า โซนที่ 2 และโซนที่ 3 มีผู้ประกอบการซ้ำกัน 4 แห่ง คือ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด สหกรณ์โคนมกำแพงแสน จำกัด สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด และบริษัท แมรี่แอน แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ทั้งที่ผู้ประกอบการ 1 แห่ง ควรจะขายนมในโซนเดียวเท่านั้น

มติครม.29พ.ย.48ให้จัดโซนผลิต

ส่วนกรณีที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อยืนยันว่าเนินการอย่างถูกต้อง ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 นั้น ผู้สื่อข่าว มติชน ตรวจสอบมติ ครม.ในวันดังกล่าวพบว่า เป็นการพิจารณาข้อเสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วงที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด โดยมีองค์การส่งเสริมกิจการโคมนมแห่งประเทศไทย (อสค.) กำหนดสัดส่วนน้ำนมดิบและนมโรงเรียนให้เหมาะสมตามศักยภาพของผู้ประกอบการ และจัดโซนพื้นที่การผลิตและโรงเรียนให้อยู่ในแหล่งเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะติดตามดูแลประสิทธิภาพโครงการนมโรงเรียนว่า ต้องเป็นนมที่ผลิตจากน้ำนมดิบ มิใช่จากนมผงละลายน้ำ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการท้วงติงหลายประเด็น อาทิ ปริมาณนมที่จัดสรรให้โรงเรียนไม่สอดคล้องจำนวนนักเรียน โรงเรียนบางแห่งได้รับจัดสรรมากเกินไป ส่วนการจัดซื้อนม อปท.บางแห่งจัดซื้อไม่ตรงตามความต้องการโรงเรียน เช่น ต้องการนมยูเอสที แต่ซื้อพาสเจอไรซ์ให้ และการจัดส่งมีความล่าช้า

อดีตรมต.แฉ5เสือนำเข้านมผง

ที่รัฐสภา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า กรณีนมโรงเรียนที่กำลังมีปัญหานมไม่มีคุณภาพนั้น ข้อมูลค่อนข้างซับซ้อนจึงจัดการลำบาก แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ เส้นทางการนำเข้านมผง ซึ่งมี 5 บริษัท หรือที่รู้กันว่าเป็น 5 เสือ ที่มีการฮั้วโควต้านำเข้า ที่มีทั้งนมผงสำหรับเด็กดื่ม นมผมสำหรับผสมอาหาร และนมผงสำหรับอาหารสัตว์ ซึ่งในส่วนนมผงอาหารสัตว์ จะไม่มีการตรวจสอบคุณภาพมากนัก และไม่เสียภาษี จึงมีการนำนมผงสำหรับเด็กดื่ม เข้ามาเป็นโควต้านมผงอาหารสัตว์ และในอดีตเคยมีกรณีนำนมผงอาหารสัตว์มาผสมในนมผงสำหรับเด็กดื่มมาแล้ว ทำให้รัฐจะต้องสูญรายได้จากภาษีดังกล่าวเป็นพันๆ ล้านต่อปี และยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

ผลประโยชน์การนำเข้านมเป็นเรื่องลึกซึ้ง รัฐบาลต้องมาดูแลจริงจัง ผมขอเสนอว่า นมผงส่วนอาหารสัตว์นำมาย้อมสีให้ชัดเจนได้หรือไม่ นายวิชาญกล่าว

สระบุรีเทนมทิ้งประชดรบ.เบี้ยว

วันเดียวกัน ที่สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง จำกัด ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง เกือบ 500 คน รวมตัวกันประท้วงที่รัฐบาลไม่ช่วยเหลือซื้อน้ำนมดิบที่ล้นตลาด มีนายเชวงศักดิ์ สวนวงศ์วิจิตร ประธานสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง จำกัด เป็นแกนนำ

นายเชวงศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลรับปากว่าจะช่วยเหลือปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ช่วยเหลือ เกษตรกรสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง มีกว่า 900 ครอบครัว มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบวันละ 115-118 ตันต่อวัน แต่สถานประกอบการรับได้เพียงวันละ 95 ตัน ทำให้สหกรณ์มีน้ำนมดิบเหลือวันละกว่า 20 ตัน ส่วนถังเก็บรับน้ำนมดิบเก็บไว้ได้ประมาณ 200 ตัน เวลานี้ก็เต็มถังไม่สามารถรับน้ำนมดิบได้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นกลุ่มผู้เลี้ยงโคนม เทน้ำนมดิบลงบนถนน บ้างก็อาบน้ำนมดิบ บ้างก็ใช้ล้างรถกระบะ รถจักรยานยนต์ เททิ้งไปรวม 40 ตัน กว่า 100 ถัง คิดเป็นเงิน กว่า 700,000 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook